โรคพยาธิใบไม้ตับ
สิ่งน่ารู้เกี่ยวกับโรคพยาธิ | โรคพยาธิตัวจี๊ด | โรคพยาธิใบไม้ตับ | โรคพยาธิหอยโข่ง | โรคเท้าช้าง | โรคพยาธิใบไม้ปอด
 
      โรคพยาธิใบไม้ตับในประเทศไทย เกิดจาก พยาธิใบไม้ตับ ชนิด Opisthorchis viverrini ซึ่งมีรูปร่างแบนคล้ายใบไม้ ส่วนหัวและท้ายเรียวมน ขนาด ยาว 7-12 มม. กว้าง 2-3 มม. สีแดงเรื่อคล้ายสีโลหิตจางๆ พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ส่วนภาคอื่นๆ พบน้อย โรคนี้เป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งท่อน้ำดีในคนไทย
 
การติดโรค

    โรคนี้เกิดจากินอาหารประเภทน้ำจืดชนิดมีเกล็ดที่มีตัวอ่อ่นของพยาธิอยู่หาก ปรุงดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ก้อยปลา ปลาหมกไฟ ปลาร้า ฯลฯ ปลาในประเทศไทยบที่พบว่ามีพยาธิตัวอ่อน เช่น ปลาซิว ปลาสร้อย ปลาขาว ปลาตะเพียน ฯลฯ
 
 
วงจรชีวิต

         พยาธิใบไม้ตับอาศัยอยู่ในท่อน้ำดีของตับทั้งของคนและสัตว์รังโรค เมื่อพยาธิออกไข่ ไข่จะออกมาในลำใส้ และปนออกมากับอุจจาระลงแหล่งน้ำ เมื่อหอยไซกินไข่นี้เข้าไป พยาธิจะเจริญเป็นตัวอ่อนอยู่ในหอย ตัวอ่อนระยะต่อมาจะออกจากหอยไปเจริญต่อในปลาเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ เมื่อคนกินปลาที่ปรุงไม่สุก ตัวอ่อนนี้จะเจริญเป็นพยาธิตัวเต็มวัยในท่อน้ำดีของตับ
 
 
         ระยะเวลาตั้งแต่คนกินตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิเข้าไปจนเจริญเป็นตัวเต็มวัย และตรวจพบไข่ในอุจจาระใช้เวลาประมาณ 4-8 สัปดาห์
 
อาการ

        ระยะแรกๆมักจะไม่มีอาการ เมื่อมีพยาธิสะสมมากๆเป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการ เช่น ท้องอืด แน่นท้อง เจ็บบริเวณชายโครงขวา ออกร้อนบริเวณหน้าท้อง ถ้าปล่อยไว้นานๆ จะมีอาการอักเสบของท่อน้ำดี ตัวเหลือง ตาเหลือง ตับโต มีไข้ บางรายอาจกลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในตับ และอาจถึงตายได้
 
 
การวินิจฉัย

       ผู้ป่วยและผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคพยาธินี้ ควรได้รับการตรวจอุจจาระเพื่อหาไข่พยาธิ
 
 
การรักษา

       พบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องหลังจากถ่ายพยาธิแล้วต้องไม่กลับไปกินปลาดิบอีก เพื่อป้องกันการติดเชื้อพยาธิใหม่
 
กินปลาดิบ กินปลาก้อย อร่อยปาก
ต้องทุกข์ยาก ตอนป่วย ด้วยโรคตับ
ถ้าไม่เลิก ชีพนี้ อาจลาลับ
จงหวนกลับ กินปลาสุก ทุกข์จะคลาย

  



ปรับปรุงล่าสุด: 2 เมษายน 2556
Copyright © 2006 - 2019 Faculty of Tropical Medicine, Mahidol University. All rights reserved.
Webmaster : tmwww@mahidol.ac.th