การรักษาพิษงู (Snakebite)
     ในประเทศเขตร้อนชื้น ที่มีสภาพพื้นที่รกตามท้องทุ่งนา หรือในเมืองใหญ่ อันตรายที่เรามองไม่เห็นย่อมมีอยู่ทั่วไปหลายอย่าง แต่สำหรับอันตรายที่เราสามารถพบได้บ่อย คือ งูพิษ โดยจะทำให้ผู้ที่ถูกกัดได้รับพิษ ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ไปจนถึงเลือดไหลออกผิดปกติ จนถึงเสียชีวิตได้ในบางราย
 
ประเภทของงูพิษ

    1. งูพิษต่อระบบประสาท ตัวอย่างเช่น งูจงอาง งูเห่า งูสามเหลี่ยม และงูทะเล สำหรับกลุ่มนี้ที่พบบ่อยคือ "งูเห่า" โดยจะ
        ทำให้ผู้ถูกกัดมีอาการได้ ภายใน 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ ตาพร่ามัว หนังตาตก พูดไม่ชัด กลืนน้ำลายไม่ได้
        เอง หายใจไม่สะดวก และอาจจะหยุดหายใจ จนทำให้เสียชีวิต
    2. พิษต่อโลหิต ตัวอย่างเช่น งูแมวเซา งูเขียวหางไหม้ และงูกะปะ ที่พบมากโดยเฉพาะในเขตตัวเมือง คือ "งูเขียวหาง
        ไหม้" เมื่อถูกกัดได้รับพิษปริมาณน้อย จะมีอาการปวดหรือบวมบริเวณที่ถูกกัดเท่านั้น แต่ถ้าได้รับพิษปริมาณมาก
        จะทำให้เลือดออกไม่หยุดตามที่ต่างๆ ในรายที่อาการรุนแรงมาก จะไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด และปัสสาวะเป็น
        เลือด
 

รูปที่ 1 งูเขียวหางไหม้ ลำตัวสีเขียวเข้ม, ท้องสีเหลืองนวล, ปลายหางสีน้ำตาลแดง ถึงน้ำตาลไหม้ ชอบอาศัยอยู่ตามพุ่มไม้

 
การป้องกันการถูกงูกัด

        1. ควรรักษาบริเวณบ้านให้สะอาด ไม่รกจากเศษอาหาร เนื่องจากเมื่อมีหนูเข้ามาอาศัย จะดึงดูดงูให้เข้ามาหากินหนู
            ในบ้านด้วย
        2. ในเวลาพลบค่ำ ไม่ควรเดินหรือทำงานในที่พงหญ้า พุ่มไม้ ทุ่งนา หรือที่รกๆ เนื่องจากจะเป็นเวลาหากินของงูใน
            เวลากลางคืน
        3. การขนย้ายกองวัสดุ หรือนั่งเล่นในพื้นดินที่รกๆ ควรระมัดระวัง เพราะงูอาจหลบอยู่ข้างใต้
        4. ไม่ควรใช้มือหรือเท้า แหย่เข้าไปในโพรงไม้หรือโพรงดิน ไม่ควรล้วงจับหนู เพราะงูชอบหลบซ่อนอยู่
        5. การเดินทางในป่า ควรสวมเสื้อผ้าที่ค่อนข้างหนา เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมรองเท้าบู๊ต และถือไม้ยาว ไว้
            คอยไล่งูที่อาจจะซุกซ่อนตามทางเดิน
        6. เมื่อเผอิญเจองู ควรหลีกไปทันที ถ้ากระชั้นชิด ควรยืนนิ่งๆ แล้วถอยออกมา มาช้าๆ เพราะงูจะไม่ทำร้ายคนก่อน
            แต่จะกัดเพื่อป้องกันตัว
 
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อท่านถูกงูกัด

        1. ควรดูให้แน่ใจว่างูที่กัดเป็นงูอะไร พยายามจดจำ สี รูปร่าง ลักษณะศีรษะ ถ้าเป็นไปได้ ควรนำเอาตัวงู มาให้แพทย์
            ดูด้วย เพราะจะได้ทำการรักษาให้ตรงกับชนิดของงู (แต่ไม่ควรเสียเวลาตามงู)
        2. ใช้เชือกรัดเหนือบริเวณที่ถูกกัดเล็กน้อย ไม่ควรรัดแน่น เนื่องจากจะทำให้เนื้อบริเวณนั้นขาดเลือด และใน
             บางส่วน เช่น นิ้ว ไม่ควรรัดบริเวณนิ้ว แต่ควรรัดบริเวณส่วนข้อมือ หรือข้อเท้าแทน ทั้งนี้ควรมีการคลายที่รัดๆไว้
             เดิมทุก 15 นาที
        3. ควรให้บริเวณที่ถูกกัด มีการขยับน้อยที่สุด หรือเป็นไปได้ควรยึดติดกับอุปกรณ์ที่ป้องกันการขยับ
        4. ควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือล้างแผล ไม่ควรใส่ยาสมุนไพร เพราะจะทำให้แผลมีโอกาสติด
            เชื้อได้เพิ่มขึ้น
        5. ไม่ควรให้ดื่มสุรา หรือยาที่มีสุราเจือปน
        6. อย่าใช้ปากดูด หรือกรีดแผล หรือรีดแผล รวมถึงการใช้ไฟฟ้าจี้ เนื่องจากจะทำให้แผลมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น
        7. รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาตั้งแต่เบื้องต้น ไม่ควรรักษาเอง หรือทานยาเอง
        8. ระหว่างนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล คอยสังเกตอาการที่ผิดปกติ เพื่อจะได้บอกแพทย์ได้อย่างถูกต้อง
 
การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ถูกงูกัด

        1. เมื่อมาถึงโรงพยาบาล แพทย์จะทำการตรวจสอบบาดแผล และดูรอยเขี้ยวงู ว่าเป็นงูพิษหรือไม่ เพื่อให้การรักษาที่
            ถูกต้อง
        2. แพทย์จะทำการซักประวัติ และชนิดของงูที่กัด ตรวจเลือดตามข้อบ่งชี้
        3. ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ต้องให้การรักษาแพทย์ แพทย์จะให้เซรุ่ม ต้านพิษงู โดยท่านอาจจะมีอาการแพ้ได้
        4.ถ้าท่านไม่มีอาการอะไร หลังจากดูอาการภายใน 1-2 ชั่วโมง แพทย์จะให้กลับบ้านได้ แต่ท่านต้องสังเกตอาการ
            ของท่าน ตามคำแนะนำของแพทย์หรือพยาบาล
        5. เมื่อท่านมีอาการผิดปกติ ควรรีบพามาตรวจซ้ำ
 

รูปที่ 2 รอยงูกัด บริเวณปลายนิ้วชี้ ร่วมกับมีภาวะจ้ำเลือดออกผิดปกติ        


  

 


ปรับปรุงล่าสุด: 29 มีนาคม 2556
Copyright © 2006 - 2019 Faculty of Tropical Medicine, Mahidol University. All rights reserved.
Webmaster : tmwww@mahidol.ac.th