เวชศาสตร์ทางเลือก
เวชศาสตร์แผนจีน (ฝังเข็ม)

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศยอมรับการรักษาโรคและหรือบรรเทาอาการด้วย วิธีฝังเข็ม ไว้ดังนี้

1. การรักษาที่ได้ผลเด่นชัด เป็นพิเศษ
         อาการปวด ปวดต้นคอเรื้อรัง หัวไหล่ ข้อศอก สันหลัง ปวดเอว ปวดหัวเข่า ปวดจากโรครูมาตอยด์ ปวดจากการเคล็ดขัดยอก ปวดประจำเดือน ปวดนิ่วในถุงน้ำดี ปวดศีรษะ มีสาเหตุมาจากความเครียด หรือก่อนการมีประจำเดือน ปวดเนื่องจากสาเหตุต่างๆ ปวดในระบบทางเดินปัสสาวะ ปวดเส้นประสาท หรือปวดเส้นประสาทบนใบหน้า ปวดหลัง การผ่าตัด ปวดไมเกรน อาการซึมเศร้า
         โรคอาการทั่วไป อัมพฤกษ์ และผลข้างเคียงหลังจากป่วยด้วยโรคทางสมอง ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ งูสวัด เม็ดเลือดขาวน้อยกว่าปกติ สมรรถภาพทางเพศถดถอย ภูมิแพ้ หอบหืด หวาดวิตกกังวล นอนไม่หลับ ขากรรไกรค้าง แพ้ท้อง คลื่นเหียรอาเจียน การเลิกเหล้าบุหรี่ ยาเสพติด

2. การรักษาที่ให้ผลดี อาการเจ็บเฉียบพลันหรือเรื้อรังในลำคอ (ต่อมทอนซิล) อาการวิงเวียนศีรษะสาเหตุจากน้ำในช่องหู สายตาสั้นในเด็ก เด็กในครรภ์มารดาอยู่ในท่าขวาง (ทำให้คลอดยาก) อาการผิดปกติของลำไส้เมื่อเกิดความเครียด

3. การรักษาที่ได้ผล ท้องผูก ท้องเดิน การมีบุตรยาก ที่มีสาเหตุจากทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย กระเพาะอาหารเลื่อนต่ำ เรอบ่อย ปัสสาวะไม่รู้ตัว ไม่คล่อง ไซนัสอักเสบ หญิงหลังคลอดมีน้ำนมไม่พอ

การฝังเข็ม (Acupuncture) คืออะไร
         การฝังเข็ม เป็นวิธีการแทงเข็มรักษาโรคด้วยการใช้เข็ม ซึ่งมีหลายขนาด แทงลงไปตรงตำแหน่งของจุดฝังเข็มตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยใช้หลักการรักษาของแพทย์แผนจีน

การฝังเข็มเจ็บหรือไม่
         ขณะที่เข็มผ่านผิวหนัง จะมีอาการเจ็บอยู่บ้างแต่ไม่มาก และเมื่อเข็มแทงเข้าไปลึกถึงตำแหน่งของจุดฝังเข็ม จะมีอาการปวดตื้อๆ หรือปวดหน่วงๆ และปวดร้าว ไปตามทางเดินของเส้นลมปราณ

เข็มที่ใช้ฝังเป็นอย่างไร
         เข็มที่ใช้ในการฝังเข็ม มีขนาดเล็กและบางมาก เป็นเข็มตัน ปลายตัด ไม่มีสารหรือยาชนิดใดเคลือบเข็มอยู่ เข็มที่ใช้ในหน่วยเวชศาสตร์แผนจีน ของโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนเป็นเข็มใหม่ จะใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่นำกลับมาใช้ใหม่โดยเด็ดขาด

ชนิดการรักษาในหน่วยเวชศาสตร์แผนจีน
         1. การฝังเข็มร่างกาย (Body Acupuncture)
         2. การฝังเข็มที่ศีรษะ (Scalp Acupuncture)
         3. การฝังร่วมกับการกระตุ้นไฟฟ้า (Electro Acupuncture)
         4. การฝังเข็มหรือ Magnetic Ball บนใบหู (Ear Acupuncture)
         5. การเคาะกระตุ้นผิวหนัง (Cutaneous Needle)
         6. การเจาะปล่อยเลือด (Blood Letting)
         7. การครอบแก้ว (Cupping)
         8. การรมยา (Moxibution)

การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า
         หลังจากที่ฝังเข็มแล้ว ใช้สายไฟเชื่อมต่อกับเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าชนิดพิเศษโดยเฉพาะ เป็นกระแสไฟฟ้าตรงประมาณ 9 โวลท์ จึงไม่สามารถทำให้เกิดไฟดูดได้ แต่จะรู้สึกกระตุ้นที่กล้ามเนื้อเป็นจังหวะ แรงพอทนได้ ทำให้เข็มกระดิก เป็นจังหวะตามกระแสไฟฟ้า และไม่ทำให้เจ็บปวดจนทนไม่ได้

การครอบแก้ว (Cupping)
         เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในบริเวณที่มีการติดขัด ทำให้รักษาอาการปวดได้ หลังจากการทำแล้ว บริเวณผิวหนังอาจมีสีม่วงคล้ำเป็นจ้ำ แต่ไม่มีอันตราย และจะหายได้เองในเวลา 1-2 สัปดาห์

ข้อห้ามในการฝังเข็ม
         1. สตรีตั้งครรภ์
         2. โรคมะเร็ง (ที่ยังไม่ได้รับการรักษา)
         3. โรคหลอดเลือดที่มีความผิดปกติของระบบแข็งตัวของเลือด
         4. โรคที่ต้องการการรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างแน่นอน

การเตรียมตัวก่อนการฝังเข็ม
         1. รับประทานอาหารก่อนมาฝังเข็มเสมอ เพราะถ้าฝังเข็มในช่วงผู้ป่วยหิวหรืออ่อนเพลีย จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นลมง่าย
         2. พักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ ไม่อ่อนเพลีย
         3. ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป ควรสวมกางเกงที่หลวม และสวมเสื้อแขนสั้น
         4. ปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด

การฝังเข็มรักษาโรคอะไรได้บ้าง
             ฝังเข็มสามารถรักษาโรคได้มากมาย ได้แก่
         - กลุ่มอาการปวดต่างๆ เช่น ปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดเข่า ปวดไมเกรน ปวดศีรษะ ปวดประจำเดือน
         - อัมพฤกษ์ อัมพาต
         - โรคทางหู เช่น มีเสียงดังผิดปกติในหู หูดับ
         - โรคภูมิแพ้ หวัดเรื้อรัง และหอบหืด
         - โรคเครียด นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า
         - โรคทางผิวหนัง เช่น สิว ฝ้า ผมร่วง งูสวัด ผื่นต่างๆ
         - โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน
         - โรคระบบทางเดินอาหารและลำไส้ เช่น ท้องผูก ท้องเดิน ริดสีดวงทวาร สะอึก ปวดท้องเรื้อรัง
         - โรคความดันโลหิตสูง และความดันโลหิตต่ำ
         - โรคเบาหวาน
         - ลดความอ้วน และเพิ่มน้ำหนักในคนผอม
         - เลิกยาเสพติด เช่น สุรา บุหรี่ ยาเสพติด
         - เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ วัยทองทั้งหญิงและชาย
         - โรคอื่นๆ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป

ข้อแนะนำในการฝังเข็ม
         1. ขณะฝังเข็ม ควรอยู่ในท่านั่งหรือนอน ไม่เครียดจนเกินไป หรือตามคำแนะนำของแพทย์
         2. ขณะรับอาการฝังเข็ม อาจมีอาการผิดปกติ เช่น มีอาการปวดมากขึ้น หน้ามืดเป็นลม ต้องรีบแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบทันที
         3. หลังจากที่ฝังเข็มและคาเข็มไว้แล้ว ควรนั่งพักหรืออยู่ในท่านั้นๆ เป็นระยะเวลาประมาณ 20-30 นาที ไม่ควรขยับเขยื้อนแขนขา หรือบริเวณที่เข็มคาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เข็มบิดงอ จะทำให้ปวดได้

ต้องมารับการรักษาฝังเข็มนานเท่าไร
          จะต้องมาฝังเข็มสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และต้องมาฝังเข็มอย่างน้อย 10 ครั้ง หรือแล้วแต่การพิจารณาของแพทย์

หน่วยเวชศาสตร์แผนจีน เปิดบริการอย่างไร
          เปิดบริการรับบัตรคิว
          - วันจันทร์ พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เวลา 07.00 - 14.00 น.
          - วันอังคาร                            เวลา 07.00 - 11.00 น.

         เปิดบริการฝังเข็มตั้งแต่เวลา 08.30 - 15.30
          - วันจันทร์ พุธ ศุกร์          รศ.นพ.วิชัย สุภนรานนท์
          - วันอังคาร                      พญ.สุดารัตน์ ศรีคิรินทร์
          - วันพฤหัสบดี                  นพ.อัศจรรย์ จันทนพ          

          ถ้าท่านต้องการมารับบริการฝังเข็ม กรุณาโทรศัพท์มาสอบถามที่หมายเลข
          - 02-3549100 ต่อ 1226 หรือ 1420

ค่าใช้จ่ายในการฝังเข็มแต่ละครั้ง
          - ค่าบริการฝังเข็ม 400 บาท (เบิกได้ 150 บาท)


  

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 3 พฤษภาคม 2561
Copyright © 2006 - 2019 Faculty of Tropical Medicine, Mahidol University. All rights reserved.
Webmaster : tmwww@mahidol.ac.th