โรคพยาธิชอนไชผิวหนัง (Cutaneous larva migrans)
      คือโรคผิวหนังที่เกิดจากพยาธิตัวกลมระยะตัวอ่อน (ส่วนมากเป็นพยาธิปากขอหรือพยาธิเส้นด้าย) ของสัตว์ พยาธิระยะตัวอ่อนจะไชไปตามผิวหนัง ชั้นหนังกำพร้าทำให้เกิดผื่นมีลักษณะเป็นเส้นนูนสีแดงคดเคี้ยวใต้ผิวหนังตาม ทางที่ พยาธิไชผ่าน เนื่องจากคนไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่พยาธิเจริญเติบโต พยาธิตัวอ่อนจึงเดินทางไปตามเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังโดยไม่สามารถเจริญเป็นระยะตัวแก่ในร่างกายคนได้ จนในที่สุดพยาธินั้นจะตายไปเอง พยาธิสภาพและอาการแสดงทางผิวหนังจะเป็นอยู่นานจนกว่าพยาธิจะถูกทำลายโดยภูมิคุ้มกันหรือได้รับยาฆ่าพยาธิ โรคนี้พบมากในเขตร้อน เช่น ทวีปเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทวีปอาฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ เป็นต้น

      ปรสิตที่เป็นสาเหตุคือ

      1. พยาธิปากขอของแมวและสุนัข Ancylostoma braziliense (พบบ่อยที่สุด), A. caninum, A. ceylanicum,
          A. tubaeforme, Uncinaria stenocephala, Bunstomum phlebotomum

      2. พยาธิเส้นด้ายของสัตว์ Strongyloides papillosus (พยาธิของแพะ แกะ วัว), S. westeri (พยาธิของม้า)
 
การติดต่อ

      พยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อที่อยู่ที่พื้นดินชื้นแฉะไชเข้าผิวหนังของคนที่เดินเท้าเปล่าหรืออาจจะติดตามตัวทาก
หรือ เข้าตามผิวหนังของเด็กที่นั่งเล่นตามพื้นดินหรือทรายโดยสามารถไชผ่านเสื้อผ้าบางๆเช่นชุดว่ายน้ำได้
 
กลไกการเกิดโรค

    พยาธิระยะตัวอ่อนจะหลั่งเอ็นไซม์เพื่อไชผ่าน ผิวหนังปกติ ผิวหนังที่เป็นแผล หรือไชเข้ามาตามรูขุมขน มาอยู่ในชั้น
หนังกำพร้า แต่ไม่สามารถไชผ่านหนังแท้ได้ หลังจากนั้น 2-3 ชั่วโมง ผิวหนังบริเวณนั้นจะเกิดการอักเสบ ต่อมาอีก
2-3 วันพยาธิตัวอ่อนจะเริ่มเคลื่อนที่ไปใต้ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า ผิวหนังจะมีการอักแสบ บวมน้ำ มีเม็ดเลือดขาวมาคั่งอยู่
 
ลักษณะของผื่น

    ผู้ป่วยจะเกิดผื่นหลังจากตัวอ่อนไชผ่านผิวหนังเข้ามาประมาณ 2- 50 วัน ตอนแรกจะเกิดเป็นตุ่มเล็กๆสีแดงก่อน
เมื่อพยาธิเริ่มเคลื่อนที่โดยการไชจะเห็นผื่นเป็นเส้นนูนสีแดงกว้าง 2-3 มิลลิเมตรคดเคี้ยวไปมาผื่นอาจมีความยาวได้ถึง
15-20 ซม. ตัวอ่อนของพยาธิเคลื่อนที่ได้วันละ 2-3 มิลลิเมตร จนถึงหลายเซนติเมตร อาจเกิดตุ่มน้ำตามแนวที่พยาธิไช
อาจมีผื่นเกิดขึ้นหลายแห่งพร้อมกัน ผื่นมักพบบริเวณที่ผิวหนังที่สัมผัสกับดินโดยตรงคือมือ เท้า ในเด็กเล็กอาจพบผื่นที่ก้น อาการร่วมที่สำคัญคือต้องมีอาการคันอย่างมาก อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
 
การวินิจฉัย

       1. การวินิจฉัยใช้อาการแสดงทางคลินิกและประวัติเป็นหลัก
       2. การตรวจเลือดอาจพบมีเม็ดเลือดขาวชนิด eosinophil สูงขึ้น
       3. การตรวจ น้ำเหลืองพบมีระดับ IgE สูงขึ้น
       4. การตัดชิ้นเนื้อเพื่อให้พบตัวอ่อนของพยาธิทำได้ยากเนื่องจากพยาธิมีขนาดเล็กมากและเคลื่อนที่เร็ว ตำแหน่งที่ตัด
           ชิ้นเนื้อที่มีโอกาสพบตัวพยาธิมากที่สุดคือบริเวณห่างจากจุดสุดท้ายที่เกิดผื่นเล็กน้อย
การรักษา

        ถ้าไม่รักษาผื่นอาจหายได้เองภายใน 4 สัปดาห์- 2 ปี ยาที่ใช้รักษา คือ
       1. Ivermectin รับประทานครั้งเดียว หาย 81-100%
       2. ยาทา Thiabendazole ทาบริเวณผื่นวันละ 2-4 ครั้งนาน 2 สัปดาห์ให้ผลการรักษาดีเท่าการรับประทานยา
           ivermectin
       3. Thiabendazole รับประทานวันละหนึ่งครั้งนาน 2 วัน หายประมาณ 68-84% เนื่องจากมีผลข้างเคียงมาก
           คือ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะจึงไม่ค่อยนิยมใช้
       4. Albendazole รับประทานวันละหนึ่งครั้งนาน 3 วัน หายประมาณ 46-100%
 
การป้องกัน

        1. อย่าเดินเท้าเปล่า นั่งหรือใช้มือสัมผัสดินที่สงสัยว่าปนเปื้อนมูลสัตว์
        2. ถ่ายพยาธิในแมวและสุนัขเพื่อไม่ให้มีการแพร่ปรสิตสู่ดิน


ร.ศ.พ.ญ. กัญญารัตน์ กรัยวิเชียร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผ.ศ.พ.ญ. จิตติมา ฐิตวัฒน์ คณะเวชศาสคร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
Share   


ปรับปรุงล่าสุด: 29 มีนาคม 2556
Copyright © 2006 - 2019 Faculty of Tropical Medicine, Mahidol University. All rights reserved.
Webmaster : tmwww@mahidol.ac.th