คำถามที่ถามบ่อยเกี่ยวกับมาลาเรีย

โรคมาลาเรียคืออะไร

          โรคมาลาเรียเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง ติดจากยุงมาสู่คน โดยเชื้อมาลาเรียในมนุษย์มีทั้งหมด 4 ชนิดคือ Plasmodium falciparum, Plasmodium vivax, Plasmodium malariae และ Plasmodium o valae

โรคมาลาเรียพบบ่อยแค่ไหน และพบในส่วนไหนของประเทศไทย

          โรคมาลาเรียพบในประเทศเขตร้อน และเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ องค์การอนามัยโรคประมาณกันว่าในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยเป็นมาลาเรียถึงปีละ 300-400 ล้านคนทั่วโลก และมีคนเสียชีวิตปีละประมาณ 1 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เกิดในทวีปแอฟริกา

          ส่วนในประเทศไทยเองสามารถพบเชื้อมาลาเรียได้ในเขตป่า โดยเฉพาะตามเขตชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านเช่น ชายแดนไทย-พม่า ชายแดนไทย-กัมพูชา โดยจังหวัดที่มีการรายงานพบผู้ป่วยมาลาเรียเป็นจำนวนมากคือ จังหวัดตาก กาญจนบุรี ตราด ราชบุรี แม่ฮ่องสอน เป็นต้น โดยจะพบในเขตพื้นที่ที่เป็นป่าเขาเท่านั้น ไม่พบมาลาเรียในเขตเมือง

โรคมาลาเรียติดต่ออย่างไร

          โดยปกติแล้วคนสามารถติดเชื้อมาลาเรียโดยการถูกยุงก้นปล่อง (Anopheles)กัด โดยยุงจะปล่อยเชื้อมาลาเรียเข้าร่างกายคน หลังจากนั้นจะมีการแบ่งตัวมากขึ้นทำให้เกิดอาการของโรคมาลาเรียได้ และ เมื่อมียุงก้นปล่องมากัดคนที่เป็นมาลาเรียจะสามารถนำเชื้อแพร่ไปสู่คนอื่นได้อีก

          เนื่องจากเชื้อมาลาเรียอยู่ในกระแสเลือดของผู้ป่วย ดังนั้นจึงมีรายงานการติดเชื้อมาลาเรียโดยการได้รับเลือด โดยการใช้เข็มฉีดยาหรือกระบอกฉีดยาร่วมกัน

อาการของโรคมาลาเรียเป็นอย่างไร

          โดยปกติแล้วผู้ป่วยมักจะเริ่มมีอาการภายหลังได้รับเชื้อแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ถึง 2 เดือน โดยอาการของผูป่วยคือจะมีไข้สูง หนาวสั่น เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว บางรายมีการบวดท้อง ท้องเสียได้ และในรายที่รุนแรงจะมีการซีดลง เหลืองมากขึ้น ซึม มีภาวะไตวาย ถ้ารุนแรงมากอาจเสียชีวิตได้

          จะรู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อมาลาเรียแล้ว ถ้าคุณมีอาการไข้ โดยเฉพาะไข้สูงหนาวสั่นขณะอยู่ในป่าหรือเพิ่งเดินทางกลับจากป่า คุณควรจะไปรับการตรวจเลือดทันที และต้องบอกแพทย์ว่ามีประวัติเดินทางเข้าป่าเสมอ การตรวจเชื้อมาลาเรียในเลือดเป็นการตรวจยืนยันที่ดีที่สุดว่ามีติดเชื้อมาลาเรียหรือไม่ ทางโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนเองมีบริการตรวจหาเชื้อมาลาเรียตลอด 24 ชั่วโมง

การรักษาโรคมาลาเรียต้องทำอย่างไร

          มาลาเรียเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ ซึ่งหลักสำคัญคือต้องรีบวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาในการให้ยารักษามาลาเรีย ตามชนิดของเชื้อ ความรุนแรงของโรค และสภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละราย ไม่ควรซื้อยารักษามาลาเรียกินเอง เพราะอาจจะได้ยาที่ไม่มีคุณภาพ หรือเป็นยาที่ใช้ไม่ได้ผลทำให้มีการดื้อยา ในรายที่มีอาการรุนแรงแพทย์จำเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้ดูแลในโรงพยาบาล

จะป้องกันมาลาเรียได้อย่างไร

          เมื่อจะเดินทางเข้าป่า หรือเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด พยายามใส่เสื้อผ้าที่ปิดมิดชิด และนอนในมุ้งหรือในบ้านที่มีมุ้งลวดเสมอ โดยปกติยุงก้นปล่องซึ่งนำเชื้อมาลาเรียจะออกหากินตอนกลางคืน ในช่วงเวลาดังกล่าวต้องเพิ่มความระมัดระวังเรื่องยุง ควรใช้ยากันยุงที่ได้รับรองมาตราฐาน และใช้ทาผิวหนังทุกๆ 3-4 ชั่วโมง

ยาป้องกันมาลาเรียจำเป็นหรือไม่

          โดยปกติแล้วในประเทศไทยไม่แนะนำให้ใช้ยาเพื่อป้องกันมาลาเรีย เนื่องจากไม่มียาใดที่ได้ผล 100% ในการป้องกัน และยาเองยังอาจมีผลข้างเคียงจากยาได้ ดังนั้นไม่ควรซื้อยาป้องกันมาลาเรียกินเอง ในบางรายที่มีความจำเป็นแพทย์จะพิจารณาในการให้ยาเป็นรายๆไป อย่างไรก็ดี การตรวจเลือดเมื่อมีไข้ขณะหรือหลังเดินทางออกจากป่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และต้องแจ้งแพทย์ผู้ดูแลเสมอถึงประวัติการเดินทาง

จะเดินทางไปต่างประเทศ จะต้องป้องกันมาลาเรียอย่างไร

          มาลาเรียเป็นโรคในเขตร้อน จะพบมาลาเรียมากในทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ เอเซีย และตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ในบางประเทศ โดยเฉพาะในแถบแอฟริกาจะพบการติดเชื้อมาลาเรียมาก เนื่องจากเป็นแหล่งโรค ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทางเสมอ เพราะในบางกรณีอาจจำเป็นต้องได้รับยาป้องกันมาลาเรีย

  


ปรับปรุงล่าสุด: 29 มีนาคม 2556
Copyright © 2006 - 2019 Faculty of Tropical Medicine, Mahidol University. All rights reserved.
Webmaster : tmwww@mahidol.ac.th