ประวัติโรงเรียนผู้ช่วยพยาบาล

        

                โรงเรียนผู้ช่วยพยาบาล ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2513 โดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ขาดแคลนบุคลากรพยาบาล  ที่จะช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย          ในโรงพยาบาลต่างๆ ของประเทศลาว  ผู้อำนวยการบริการสาธารณสุขแห่งชาตินครเวียงจันทน์ได้ขอร้องมายังคณะกรรมาธิการประสานงานส่วนกลางอายุรศาสตร์เขตร้อน  และสาธารณสุขศาสตร์แห่งคณะรัฐมนตรีสภาการศึกษาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  (SEAMEO)  ซึ่งมี  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ  จำลอง  หะริณสุต  เป็นเลขาธิการ  และดำรงตำแหน่งคณบดี  คณะเวชศาสตร์เขตร้อน  มหาวิทยาลัยมหิดล  ในขณะนั้น  ได้ตกลงรับที่จะผลิตผู้ช่วยพยาบาลให้ประเทศลาว  เพราะเห็นว่าเป็นหลักสูตรที่ใช้เวลาในการศึกษาเพียง  12  เดือน  เท่านั้น  และเป็นการแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว  โดยทาง  SEAMEO  ได้ให้ความช่วยเหลือในด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ในการเรียนการสอน  ส่วนคณะเวชศาสตร์เขตร้อน  ช่วยเหลือด้านครู  อาจารย์ผู้สอน  สถานที่เรียน  หอพัก  และอาหาร

                                นักศึกษารุ่นแรกเป็นนักศึกษามาจากประเทศลาว   8   คน   (ชาย  7  คน   หญิง  1  คน)  และทางคณะเวชศาสตร์เขตร้อน    ได้รับนักเรียนไทยเพิ่มอีก    4   คน  ได้ใช้หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล    ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  (ซึ่งรับนักเรียนที่สำเร็จ  ม.ศ.  3  ใช้เวลาศึกษา  1  ปี)  ต่อมาประเทศลาวงดส่งนักศึกษา  เนื่องจากได้จัดการอบรมบุคลากรทางการแพทย์เอง  คณะกรรมการดำเนินการหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลเห็นว่า  โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนยังขาดแคลนพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล  พร้อมทั้งอุปกรณ์การเรียนการสอนก็มีอยู่แล้ว  จึงเสนอให้คณะเวชศาสตร์เขตร้อนเปิดรับนักศึกษาไทยเข้าศึกษาในหลักสูตร  เพื่อผลิตผู้ช่วยพยาบาลสำหรับโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน  ศาสตราจารย์เกียรติคุณจำลอง  หะริณสุต  คณบดีฯ  ได้ให้การสนับสนุนโรงเรียนผู้ช่วยพยาบาลของคณะเวชศาสตร์เขตร้อนเป็นลำดับเรื่อยมา  และได้รับนักเรียนเพิ่มจำนวนมากขึ้นเท่าที่สถานที่การเรียนการสอนจะอำนวย

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณคุณหญิงตระหนักจิต  หะริณสุต  เป็นประธานดำเนินงานโรงเรียน

ผู้ช่วยพยาบาล  ในปี  พ.ศ.  2513 – 2521  ได้ขยายงานด้านให้ความช่วยเหลือกับส่วนราชการต่าง ๆ โดยช่วยผลิตผู้ช่วยพยาบาลตามโครงการช่วยเหลือชาวเขา  โครงการในพระบรมราชินูปถัมภ์  โครงการช่วยเหลือ

โรงพยาบาลในชนบท  และยังได้จัดหาทุนให้กับนักศึกษาเหล่านั้น โดยรับทุนของสมาคมสตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์  รวมทั้ง   ผลิตผู้ช่วยพยาบาล  ให้กับโรงพยาบาลศรีนครินทร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  และโครงการส่งเสริมให้คนท้องถิ่นเข้ารับราชการของกระทรวงมหาดไทย  4  จังหวัดภาคใต้

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณดนัย   บุนนาค   เป็นประธานดำเนินงานโรงเรียนผู้ช่วยพยาบาลตั้งแต่ปี  พ.ศ.  2522– 2527  หลังจากนั้นได้งดการผลิตเป็นเวลา  10  ปี  รวมผลิตนักศึกษาผู้ช่วยพยาบาลแล้วทั้งหมด  14  รุ่น

                                ต่อมาในปี   พ.ศ.  2538    คณะเวชศาสตร์เขตร้อน    ได้เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตร

ผู้ช่วยพยาบาลอีกครั้ง  โดยรับจากผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3  หรือเทียบเท่า  เข้าศึกษาในรุ่นที่  15  ปีการศึกษา  2539  ถึงรุ่นที่  17  ปีการศึกษา  2540

                ในปี พ.ศ.  2541  โรงเรียนผู้ช่วยพยาบาลได้ปรับปรุงหลักสูตรใหม่  รับผู้สำเร็จการศึกษาจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าศึกษาต่อ 1 ปี  ในหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล  โดยได้เริ่มรับนักศึกษาในปี 2541 – 2552  และในปี พ.ศ. 2553 ได้ปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลอีกครั้ง  เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูประบบสุขภาพและตรงตามข้อบังคับของสภาการพยาบาล ว่าด้วยการรับรองหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล  โดยได้การรับรองจากสภาการพยาบาล  และได้เปิดรับนักศึกษาหลักสูตรใหม่นี้ ในปี  พ.ศ. 2553  เป็นต้นมาจึงถึงปัจจุบัน