การเก็บสิ่งส่งตรวจโรค COVID-19

การตรวจหาเชื้อ SAR-CoV-2 ด้วยวิธี Real time RT-PCR

เพื่อให้การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการมีความถูกต้องและแม่นยำ ผู้เก็บสิ่งส่งตรวจควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  1. ก่อนเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วย ควรเตรียมวัสดุที่จะใช้ให้พร้อมรวมถึงหลอดเก็บตัวอย่าง รายละเอียดของผู้ป่วย เช่น ชื่อผู้ป่วย ชนิดตัวอย่าง วันเดือนปีบนฉลากข้างหลอดและปิดทับสลากด้วยวัสดุกันน้ำ และสวมใส่ PPE ให้เหมาะสม
  2. เก็บตัวอย่างเร็วที่สุด เมื่อผู้ป่วยเริ่มปรากฎอาการของโรค อย่างช้าภายใน 3-5 วัน
  3. ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ปอดบวม ปอดอักเสบ ควรเก็บตัวอย่างจากระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น bronchoalveolar และ tracheal aspirate เก็บปริมาตรอย่างน้อย 2-3 mL, sputum เก็บปริมาตรอย่างน้อย 0.5-1 mL ใส่ภาชนะปลอดเชื้อไม่ต้องใส่ UTM/VTM ยกเว้นกรณีผู้ป่วยใส่ tube ให้ตัดสาย ET-tube จุ่มลงในหลอด UTM/VTM และควรเก็บตัวอย่างจากทางเดินหายใจส่วนบนควบคู่ไปด้วยเพื่อเพิ่มโอกาสการพบเชื้อจากการเก็บตัวอย่างหลายระบบ
  4. ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ให้เก็บตัวอย่าง เช่น nasopharyngeal aspirate, nasopharyngeal wash, nasopharyngeal swab, throat swab
  5. ผู้ป่วยที่เก็บตัวอย่างเป็น swab ควรเก็บ nasopharyngeal swab ร่วมกับ throat swab ใส่ใน UTM/VTM ในหลอดเดียวกันเพื่อเพิ่มปริมาณเชื้อไวรัส (ใช้ Dacron หรือ Rayon swab ที่ก้านทำด้วยลวดหรือพลาสติก และไม่มีสาร calcium alginate) เมื่อป้ายเสร็จให้จุ่มลงในหลอด UTM/VTM ปริมาตร 1 หรือ 2 mL แล้วหักหรือตัดปลายด้าม swab ทิ้งเพื่อปิดหลอดตัวอย่างได้สนิท
  6. บรรจุตัวอย่างในหลอดที่ป้องกันการรั่วไหล (Leak proof) เมื่อเก็บตัวอย่างเรียบร้อยแล้ว ปิดฝาหลอดหรือภาชนะเก็บตัวอย่างให้สนิทพันด้วย เทป แล้วถอดถุงมือชั้นนอกสุด เปลี่ยนสวมถุงมือคู่ใหม่เพื่อลดการปนเปื้อน ภายนอกหลอดวัตถุตัวอย่างให้เช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ 0.1 % โซดียมไฮโปคลอไรต์
  7. เมื่อเก็บตัวอย่างแล้วต้องแช่ในกระติกน้ำแข็งทันทีหรือเก็บในตู้เย็น อุณหภูมิ 2-8 °C แล้วส่งห้องปฏิบัติการภายใน 24 ชั่วโมง กรณีที่ไม่สามารถส่งตรวจภายใน 24 ชั่วโมง ให้เก็บในตู้แช่ที่อุณหภูมิตั้งแต่ -70 °C ขึ้นไป


การบรรจุวัตถุตัวอย่างเพื่อส่งห้องปฏิบัติการ

  1. พันรอบหลอดวัตถุตัวอย่างด้วยวัสดุดูดซับของเหลว โดยวัสดุดูดซับของเหลวที่ใช้ต้องเพียงพอที่จะสามารถดูดซับของเหลวจากภาชนะทั้งหมดได้ในกรณีที่ภาชนะชั้นในแตกหักหรือรั่ว
  2. ใส่ถุงซิปชั้นที่ 1 แล้วทำความสะอาดภายนอกด้วย 70 % แอลกอฮอล์ สวมถุงมือคู่ใหม่ สวมถุงซิปชั้นที่ 2 และ ชั้นที่ 3 ทำความสะอาดถุงซิปอีกครั้งด้วย 70 % แอลกอฮอล์
  3. นำหลอดวัตถุตัวอย่างในถุงพลาสติกซิป 3 ชั้นใส่ลงในกระป๋องพลาสติกที่แข็งแรง (ภาชนะชั้นที่ 2) ป้องกันการรั่วไหลได้ดี มีฝาปิดสนิทไม่รั่วซึม สามารถทนแรงกระแทกได้ และฉีดพ้นน้ำยาฆ่าเชื้อภายนอกกระป๋อง
  4. นำกระป๋องใส่ลงในกล่องโฟม (ภาชนะชั้นที่ 3) ที่มีคุณสมบัติแข็งแรงทนต่อการกระแทก นำ ice pack ใส่ลงไปในช่องว่างระหว่างกล่องโฟม (ภาชนะชั้นที่ 3) และกระป๋อง (ภาชนะชั้นที่ 2) ให้เพียงพอ เพื่อควบคุมอุณหภูมิให้ได้ระหว่าง 2-8 °C ตลอดการขนส่ง พันเทปกาวที่ฝากล่องโฟมให้เรียบร้อย ฉีดพ้นน้ำยาฆ่าเชื้อภายนอกกล่องโฟม
  5. ด้านนอกกล่องโฟม (ภาชนะชั้นที่ 3) ให้แสดงรายละเอียดได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ ผู้รับ หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อของผู้ควบคุมการขนส่ง ชื่อผู้ส่ง หมายเลขโทรศัพท์ผู้ส่ง ติดตราสัญลักษณ์สารชีวภาพอันตราย สัญลักษณ์ลูกศรแสดงทิศทางการวางบรรจุภัณฑ์
  6. ถอดชุด PPE ทิ้งในถังขยะติดเชื้อแล้วนำไปทำลายหรือฆ่าเชื้อ

 

 

Last update: May 11, 2022