สื่อความรู้เรื่องโรคพยาธิ ประจำเดือนพฤษภาคม 2565
“พยาธิตืดหมู (Taenia solium) ”
ผศ. ดร. นพ.ธีระ กุศลสุข
ผู้ป่วยชายอายุ 67 ปี จากจังหวัดตาก ตรวจพบไข่พยาธิตืดจากอุจจาระ จากการซักประวัติเพิ่มเติม ผู้ป่วยให้ประวัติว่าก่อนหน้านี้ก็เคยพบปล้องพยาธิออกมากับอุจจาระเป็นสายสั้น ๆ แต่ก็ได้ได้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาแต่อย่างใด ในอดีตที่ผ่านมามีประวัติทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะลาบหมูดิบ มักจะทานกับเพื่อน ในระหว่างดื่มสุรา ผู้ป่วยยอมรับว่าชอบทานอาหารดิบมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น จนถึงปัจจุบัน ไม่เคยไปพบแพทย์ หรือได้รับการรักษามาก่อนหน้านี้ ในครั้งเจ้าหน้าที่ รพ.สต. แจ้งว่าจะมีบริการตรวจอุจจาระเพื่อวินิจฉัยไข่พยาธิจึงได้ส่งมาให้ทีมงานของภาควิชาปรสิตหนอนพยาธิ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตรวจวินิจฉัย และผลตรวจอุจจาระด้วยวิธี Kato’s Thick smear technique ตรวจพบไข่พยาธิตืด ดังรูปภาพที่ 1

รูปภาพ 1 ไข่พยาธิตืดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30-35 ไมครอน ภายในไข่จะมีตัวอ่อนที่มีขอเกี่ยวขนาดเล็กอยู่ 6 อัน ที่เรียนกว่า hexacanth embryo
ตรวจร่างกายเบื้องต้น ผู้ป่วยไม่มีไข้ ความดันโลหิตปกติ มีรูปร่างปกติสมส่วนค่อนข้างผอมเล็กน้อย มีภาวะซีดเล็กน้อย ไม่มีตาเหลือง ไม่มีตัวเหลือง หัวใจเต้นปกติ ปอดปกติ ช่องท้องปกติ คลำไม่พบก้อนผิดปกติ ตับไม่โต ม้ามไม่โต แขน ขา ปกติ ไม่มีอ่อนแรง ไม่พบก้อนเนื้อหรือตุ่มนูนใต้ผิวหนังแต่อย่างใด
ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาฆ่าพยาธิและนัดถ่ายอุจจาระเพื่อนำตัวพยาธิมาตรวจวินิจฉัยพบว่า ผู้ป่วยรายนี้มีจำนวนสายพยาธิออกมากับอุจจาระจำนวนมาก จึงได้แยกพยาธิแต่ละสายออกจากกัน และพบว่าผู้ป่วยรายนี้มีพยาธิขดอยู่ในร่างกายทั้งสิ้น 19 ตัว และได้นำส่วนหัวของตัวพยาธิมาตรวจ พบว่าส่วนหัวมีขนาดเล็ก มีอวัยวะสำหรับใช้เกาะดูดลำไส้ที่เรียกว่า sucker 4 อัน และพบส่วนที่เป็นขอเกี่ยวอยู่ส่วนบนมีลักษณะเป็นแถวเรียงต่อกัน 2 ชั้น (hooklets) (ดังภาพที่ 2A, 2B) ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของ “พยาธิตืดหมู” นั่นเอง

รูปภาพ 2A: ลักษณะตัวแก่ของพยาธิขดเป็นสายยาว สามารถแยกออกได้ทั้งสิ้น 19 ตัว

รูปภาพ 2B: ส่วนหัวของพยาธิตืดเรียกว่า scolex มีลักษณะค่อนข้างกลม มีอวัยวะสำหรับดูดเกาะ (sucker) และขอเกี่ยว (hooklets) คล้ายหนามมงกุฎอยู่ด้านบนสุด (ลูกศรชี้)
การติดพยาธิตืดหมู จากการกินเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ที่มีการปนเปื้อนตัวอ่อนระยะติดต่อที่เรียกว่า “พยาธิตืดเม็ดสาคูหมู” ปนอยู่ในเนื้อหมูเหล่านั้น (รูป 3)
รูปภาพที่ 3: ตัวอ่อนระยะติดต่อเรียนว่า “พยาธิตืดเม็ดสาคู” (ลูกศรชี้) ที่ปนเปื้อนอยู่ในเนื้อหมู

การวินิจฉัย : ตรวจอุจจาระหาไข่พยาธิ
การรักษา : แนะนำพบแพทย์เพื่อรับยากฆ่าพยาธิ
การป้องกัน : งดเว้นจากการกินเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ
งดถ่ายอุจจาระนอกส้วม และการเลี้ยงหมูควรเลี้ยงแบบขังคอก ไม่ปล่อยให้หากินเอง