• (001) 88451234
  • 88455438

หอยทากยักษ์แอฟริกากลายเป็นชนิดพันธุ์รุกรานในหลายประเทศทั่วโลก

       รายงานล่าสุดพบว่า หอยทากยักษ์แอฟริกา (Achatina fulica) กลายเป็นชนิดพันธุ์รุกราน (invasive species) ในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากสามารถปรับตัวให้อยู่ในถิ่นอาศัยได้หลายประเภท กินอาหารได้หลากหลาย และแพร่กระจายได้รวดเร็ว นอกจากจะก่อให้เกิดความสูญเสียทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพและด้านเกษตรกรรมในพื้นที่ทั่วโลก หอยทากยักษ์แอฟริกายังพบเป็นโฮสต์ตัวกลางของหนอนพยาธิตัวกลมกว่า 11 ชนิด ซึ่งก่อให้เกิดโรคทั้งในคนและสัตว์ หอยทากยักษ์แอฟริกาจัดเป็นโฮสต์ตัวกลางที่มีความสำคัญทางการแพทย์เนื่องจากเป็นโฮสต์ตัวกลางของพยาธิปอดหนู (Angiostrongylus cantonensis) หรืออีกชื่อคือพยาธิหอยโข่ง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคพยาธิปอดหนูหรือโรคพยาธิหอยโข่ง (Angiostrongyliasis) การติดเชื้อในคนก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Eosinophilic meningitis) คนติดโรคพยาธิชนิดนี้ได้โดยการรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุกจากหอยทากและหอยโข่ง โฮสต์ตัวกลางของพยาธิปอดหนูเป็นหอยชนิดต่างๆ เช่น หอยทากยักษ์แอฟริกา หอยโข่ง และหอยเชอรี่ เป็นต้น หอยทากยักษ์แอฟริกาพบว่าเป็นโฮสต์ตัวกลางที่สำคัญของพยาธิปอดหนู เดิมเป็นหอยชนิดประจำถิ่นอยู่ใน East Africa ภายหลังปี ค.ศ. 1800 ถูกนำเข้าสู่หลายภาคพื้นทวีปกว่า 52 ประเทศทั่วโลก และพบเป็นโฮสต์ตัวกลางที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคพยาธิปอดหนูในหลายประเทศแถบ Asia และ Pacific Basin จากรายงานการศึกษา (Review article) การติดเชื้อหนอนพยาธิตัวกลมด้วยวิธี artificial digestion ด้วย 0.7% HCl หรือ pepsin และจัดจำแนกชนิดด้วยลักษณะทางสัณฐานวิทยาและอณูชีวโมเลกุล พบตัวอ่อนหนอนพยาธิกว่า 11 ชนิด (A. cantonensis, A. malaysiensis, Aelurostrongylus abstrusus, Strongyluris sp., Rhabditis sp., Caenorhabditis sp., Ancylostoma caninum, A. vasorum, Troglostrongylus brevior, Crenosoma vulpis, และ Cruzia tentaculata) ในหอยทากยักษ์แอฟริกาใน 21 ประเทศทั่วโลก จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าพยาธิปอดหนูชนิด A. cantonensis เป็นพยาธิตัวกลมที่พบเป็นหลักในหอยทากยักษ์แอฟริกา หอยทากยักษ์แอฟริกาที่ศึกษาในครั้งนี้เป็นหอยทากที่เก็บได้ในสิ่งแวดล้อมที่มีคนอาศัยอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นว่าหอยทากที่ติดเชื้อพยาธิปอดหนูสามารถพบได้ทั่วไปไม่จำเพาะต้องพบในพื้นที่ป่าธรรมชาติเท่านั้น นอกจากนนี้แล้วยังมีโฮสต์พาราเทนิกของพยาธิปอดหนูในธรรมชาติอีกหลายชนิด เช่น กบ ปลาน้ำจืดและตะกวด เป็นต้น ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุกที่เตรียมจากหอย หรือโฮสต์ตัวกลางและโฮสต์พาราเทนิกชนิดต่าง ๆ ของพยาธิปอดหนูเพื่อป้องกันการติดเชื้อพยาธิชนิดนี้

อ.ดร.อรวรรณ พู่พิสุทธิ์

      ที่มา: Silva GM et al., 2022. doi: 10.1017/S0022149X22000761.

Shopping Basket