ศูนย์วิจัยโรคเขตร้อน

ประวัติความเป็นมาของศูนย์วิจัยโรคเขตร้อนกาญจนบุรี

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินภารกิจด้านการศึกษาระดับหลังปริญญา ได้รับแต่งตั้งเป็นศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยเวชศาสตร์เขตร้อน ขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2510 จัดการศึกษาและฝึกอบรมด้านโรคเขตร้อนแก่แพทย์บุคลากรทางการแพทย์ประเทศไทย และประเทศต่างๆ ทั้งโลก ด้านการวิจัย ส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เพื่อการวิจัยส่งเสริมการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรค เขตร้อน ด้านการบริการชุมชน มีโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ให้บริการรักษาโรคเขตร้อนแก่ประชาชน และเป็นศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการกับองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นการจัดฝึกอบรมความรู้เรื่องโรคเขตร้อนแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ในปี พ.ศ. 2542 คณะฯ ดำริจัดหาสถานที่สำหรับรองรับการฝึกภาคสนามสำหรับนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก รวมทั้งสถานที่จัดสัมมนาและอบรมระยะสั้น และมหาวิทยาลัยมหิดลกำลังพัฒนาวิทยาเขตในพื้นที่อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี จึงได้อนุมัติพื้นที่ 5 ไร่ ให้คณะก่อสร้างอาคารศูนย์วิจัยโรค เขตร้อนกาญจนบุรี หรือ Tropical Disease Research Center, Kanchanaburi ซึ่งคณะฯ ได้รับงบประมาณก่อสร้าง และครุภัณฑ์ประจำอาคารรวม 56.8 ล้านบาทเศษ เป็นอาคาร 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 7,000 ตารางเมตร โดยมีวัตถุประสงค์ให้มีห้องประชุมสัมนาขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ห้องประมวลผลคอมพิวเตอร์ ห้องศึกษาด้วยตนเองของนักศึกษา อาจารย์ และห้องอเนกประสงค์ เพื่อใช้เป็นศูนย์สัมมนาและฝึกอบรมนานาชาติภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการกับองค์กรระหว่างประเทศ เริ่มก่อสร้างวันที่ 7 มิถุนายน 2544 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 และได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2546 โดย ศาสตราจารย์พรชัย มาตังคสมบัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นประธาน

 

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด: 11 เมษายน 2556