ไข้มาลาเรียสำคัญไฉน

        ไข้มาลาเรีย เป็นโรคติดเชื้อที่ส่งกระทบต่อระบบสาธารณสุขในหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย นับจากที่สามารถตรวจพบเชื้อปรสิตในเม็ดเลือดแดงของผู้ป่วย โดยนายแพทย์ชาวฝรั่งเศสเจ้าของรางวัล Nobel Prize for Physiology or Medicine ในปี พ.ศ. 2450 องค์ความรู้โรคไข้มาลาเรียมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่ตระหนักว่าไข้มาลาเรียมีผลกระทบต่อสุขภาพและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน ปัจจุบันองค์ความรู้ด้านบริหารจัดการด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับโรคไข้มาลาเรียมีความก้าวหน้ามาก หลายประเทศกำลังดำเนินยุทธศาสตร์ปลอดโรคไข้มาลาเรีย รายงานมาลาเรียโลกปี พ.ศ. 2564 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่ามีประชากรโลกป่วยด้วยไข้มาลาเรียกว่า 241 ล้านคน และเสียชีวิตถึง 627,000 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 80 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี (1) ทั่วโลกต้องใช้งบประมาณหลายล้านล้านบาทต่อปี เพื่อจัดการกับโรคไข้มาลาเรีย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่กล่าวถึงโรคไข้มาลาเรียว่าเป็น “ราชาแห่งโรคเมืองร้อน” (2)

 

สาเหตุ

          ไข้มาลาเรียเป็นโรคติดเชื้อปรสิตโปรโตซัว กลุ่มพลาสโมเดียม (Plasmodium spp.) 5 สายพันธุ์หลักๆ ที่พบในคน คือ P. falciparum, P. vivax, P. ovale, P. malariae และ P. knowlesi ผ่านการกัดของยุงก้นปล่อง (Anopheles spp.) มีรายงานอาจติดต่อจากคนสู่คนผ่านการรับเลือด ปลูกถ่ายอวัยวะ หรือแม่สู่ทารกในครรภ์ มักพบการระบาดในฤดูฝน เชื้อมีระยะฟักตัวในคนประมาณ 1-3 สัปดาห์ตามสาเหตุของเชื้อแต่ละสายพันธุ์ การระบาดในประเทศไทยจะพบผู้ป่วยตามตะเข็บชายแดนบริเวณที่มีป่าเขาลำธาร ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทย-ลาว ไทย-กัมพูชา ไทย-พม่า และไทย-มาเลเซีย

malaria-01
อาการ

         ช่วงแรกของการติดเชื้อผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาการผู้ป่วยแต่ละคนอาจแตกต่างกันตามสภาพภูมิต้านทาน ส่วนอาการจำเพาะแบบไข้จับสั่นปัจจุบันมักไม่พบอย่างในอดีต ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการเล็กน้อย แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรงจนเป็นสาเหตุนำของการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง ปอดอักเสบ ไตวายเฉียบพลัน เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยมาลาเรียอาจเกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เช่น ในกรณีติดเชื้อมาลาเรียร่วมกับแบคทีเรียหรือปรสิตอื่นๆ จนอาจเป็นปัญหาในการรักษา โดยเฉพาะหากได้รับการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อน (4-5)

การวินิจฉัย

    การตรวจวินิจฉัยโรคไข้มาลาเรียทำได้หลายวิธี แต่ละวิธีการจะมีข้อดีและปัญหาแตกต่างกันไป เช่น การวินิจฉัยอาการทางคลินิก เป็นวิธีที่สะดวกที่สุดแต่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของแพทย์ผู้ตรวจ ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกกำหนดให้การตรวจวินิจฉัยโรคไข้มาลาเรียจะต้องอ้างอิงเชื้อมาลาเรียในกระแสเลือดผู้ป่วยทุกครั้ง ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีมาตรฐาน คือ ตรวจหาเชื้อมาลาเรียโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ ด้วยเทคนิคการย้อมสีเลือดด้วยแผ่นฟิล์มหนาและฟิล์มบางยังคงปฏิบัติในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตามวิธีการนี้ต้องใช้เครื่องมือ น้ำยาย้อมสี และประสบการณ์ของผู้ตรวจวินิจฉัย วิธีการวินิจฉัยอื่นๆ เช่น ชุดตรวจเร็ว (Rapid diagnosis tests: RDTs) จึงเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าเขาห่างไกล ขาดแคลนเครื่องมือ และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ด้วยที่ใช้งานง่ายและให้ผลการตรวจเร็ว แต่มีปัญหาด้านความแม่นยำ โดยเฉพาะในกรณีที่เชื้อมาลาเรียในเลือดผู้ป่วยมีปริมาณต่ำ ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยหาสารพันธุกรรมเป็นวิธีการที่แม่นยำที่สุด แต่ใช้เวลานาน มีค่าใช้จ่ายสูง ต้องอาศัยเครื่องมือและบุคลากรเฉพาะ ดังนั้นจึงเหมาะกับการตรวจวินิจฉัยเพื่อยืนยันการติดเชื้อโดยเฉพาะในกรณีการติดเชื้อ P. knowlesi

การรักษา

    ยารักษาโรคไข้มาลาเรียมีหลายชนิด แต่ละขนานมักพบประเด็นที่ถกเถียงกันด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อการรักษา(6) ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้กำหนดแนวทางการรักษาโรคไข้มาลาเรีย(7) แต่นโยบายระดับชาติของแต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกันบ้าง คณะผู้วิจัยจากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยความร่วมมือกับกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ทุ่มเทความสามารถวิจัยและคิดค้นยารักษามาลาเรียสูตรต่างๆ และได้ตีพิมพ์เผยแพร่แนวทางเวชปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรีย สำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย (3) นอกจากนี้คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศูนย์ความร่วมมือด้านการรักษาโรคไข้มาลาเรีย (WHO Collaborating Centre for Clinical Management of Malaria) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 และพัฒนาต่อมาเป็น WHO Collaborating Centre for Case Management, Training and Research on Malaria จวบจนปัจจุบัน

การป้องกันและควบคุม

การป้องกันโรคไข้มาลาเรียหลักๆ 2 ทาง คือ

  1. การป้องกันไม่ให้ยุงกัด: เป็นวิธีการที่ปลอดภัยและประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ปฏิบัติได้ยาก เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมร่างกายให้มิดชิด โดยเฉพาะช่วงเวลาหัวค่ำหรือใกล้สว่างที่เป็นช่วงออกหากินของยุงก้นปล่อง การใช้โลชั่นกันยุงทาผิวกาย การฉีดหรือจุดยากันยุง ตลอดจนการอยู่ในบ้านหรือนอนในมุ้งที่มีการพ่นหรือเคลือบสารเคมีฆ่ายุง เป็นต้น
  2. การใช้ยาป้องกัน: ปัจจุบันไม่แนะนำในหลายพื้นที่ ที่มีอุบัติการณ์ของโรคไข้มาลาเรียต่ำ หรือการระบาดเป็นบางฤดูกาล เช่น ประเทศไทย(3) นอกจากนี้การใช้ยาป้องกันยังไม่สามารถป้องกันโรคไข้มาลาเรียได้ 100% อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลกมีคำแนะนำการใช้ยาที่สามารถป้องกันมาลาเรียได้ ในแต่ละพื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยว(7) ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน (https://www.tropmedhospital.com)

การควบคุมมาลาเรีย สามารถทำได้หลักๆ ดังนี้

  1. การควบคุมประชากรยุง และลูกน้ำที่เป็นพาหะของโรคไข้มาลาเรีย โดยการสเปรย์สารเคมีฆ่ายุง ตลอดจนการใส่สารเคมีฆ่าลูกน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งมีผลทำให้ประชากรลดลงได้บ้างส่วนหนึ่ง
  2. การพ่นหรือเคลือบสารเคมีฆ่ายุง บนผนังบ้านหรือมุ้งนอน ซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

เอกสารอ้างอิง

  1. World Health Organization. World malaria report 2021. 2021. https://www.who.int/teams/global-malaria-programme/reports/world-malaria-report-2021. Accessed 23 Nov 2022.
  2. Tangpukdee N, Duangdee C, Wilairatana P, Krudsood S. Malaria diagnosis: a brief review. Korean J Parasitol 2009; 47(2): 93-102.
  3. กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรีย ประเทศไทย พ.ศ. 2564. 2564. http://malaria.ddc.moph.go.th/downloadfiles/Malaria_Manual/[Guideline]_Malaria_Treatment_2564_NTG.pdf. Accessed 23 Nov 2022.
  4. Mahittikorn A, Masangkay FR, De Jesus Milanez G, Kuraeiad S, Kotepui M. Prevalence and effect of Plasmodium and hookworm co-infection on malaria parasite density and haemoglobin level: a meta-analysis. Sci Rep 2022; 12(1): 6864.
  5. Mansanguan C, Phumratanaprapin W. Concomitant Plasmodium vivaxmalaria and murine typhus infection with pulmonary involvement. BMJ Case Rep 2018; 11(1): e226139.
  6. Hanboonkunupakarn B, Tarning J, Pukrittayakamee S, Chotivanich K. Artemisinin resistance and malaria elimination: Where are we now? Front Pharmacol 2022; 13:
  7. World Health Organization. WHO Guidelines for malaria. 3rd June 2022. https://www.who.int/publications/i/item/guidelines-for-malaria. Accessed 23 Nov 2022.

รศ. ดร.นพดล ตั้งภักดี

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

Shopping Basket