On January 16, 2019 at 13.00-16.00 hr.



Thailand 4.0: Healthtech startup and how to pitch your business

เมื่อวันพุธที่ 16 มกราคม 2562 สำนักงานบริการการวิจัย ได้จัดการบรรยายพิเศษ เรื่อง “Thailand 4.0: Healthtech startup and how to pitch your business” บรรยายโดยคุณกวิน แก่นตระกูล ตำแหน่ง Senior Manager และคุณฐิติพร มุขสมบัติ ตำแหน่ง Business Development Manager จากบริษัทเอ็มพีกรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายทั้งสิ้น 29 คน

การบรรยายเริ่มโดยการเล่าถึงความรู้พื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจโลก รวมทั้งประเทศไทย โดยมุ่งเน้นในประเด็นเกี่ยวกับวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพที่มากขึ้น จึงทำให้เป็นช่องทางที่น่าสนใจในการทำการตลาด และเศรษฐกิจไทย โดยปัจจุบันเริ่มเห็นผู้ประกอบการที่เป็นองค์กรขนาดเล็ก หันมาทำ Start up ซึ่งต่างจากยุคก่อนหน้าที่เป็น SME ซึ่งคุณกวินได้เน้นถึงความแตกต่างของธุรกิจทั้งสองประเภท ดังนี้

SME ทำธุรกิจโดยอิงตามกระแสความต้องการของตลาด ณ ตอนนั้น ก่อตั้งโดยเจ้าของคนเดียว คัดลอกแบบแผน Model ธุรกิจแบบทั่วไปมาใช้ทำธุรกิจได้ไม่ยาก หากลยุทธ์ทางธุรกิจได้จากแหล่งความรู้ทั่วไป และหาแหล่งเงินทุนผ่านระบบทั่วไป เช่น เงินเจ้าของ หรือกู้จากธนาคาร เน้นการซื้อมา ขายไป ประมาณการกำไรไว้ที่ 5-10% ของต้นทุน

Start up เป็นธุรกิจที่ต้องการสร้างกระแสหรือสร้างจุดเปลี่ยนทางการตลาด ก่อตั้งโดย Co-founder มีทีมทำงานขนาดเล็ก ไม่มี Model ธุรกิจที่แน่นอน ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ คิดกลยุทธ์ธุรกิจขึ้นมาเอง และมีความคิดสร้างสรรค์ ใช้แหล่งเงินทุนแบบใหม่ เช่น Venture Capital เน้นการทำกำไรที่เกิดจากกการขายต่อกิจการหรือเทคโนโลยี

สำหรับแนวโน้มทางธุรกิจเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน มี 2 ประเด็นหลัก คือ

  1. Healthtech การนำเทคโนโลยีที่ผ่านการวิจัย มาประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพ และเป็นโปรแกรม ระบบปฏิบัติการ หรือ ซอฟต์แวร์ชนิดอื่น ๆ สามารถทำงานได้ในหลาย เพื่อเป็นตัวกลาง ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ เช่น Application วัดอัตราการเต้นของหัวใจ หรือ Application การดูแลเบาหวาน เป็นต้น
  2. Deeptech การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจ มีการวิจัยเก็บข้อมูลทางการตลาดมากกว่า 6 เดือน ใช้เงินลงทุนสูง ทำให้หาผู้ร่วมลงทุนได้ยาก เช่น Gene Therapies หรือ Immune System programming หรือ Nano-encapsulation เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผลงานวิจัย ให้เป็นธุรกิจ สามารถจะเกิดขึ้นได้ โดยจะต้องมีองค์ประกอบหลายภาคส่วน เช่น นักวิจัย เงินทุนวิจัย เทคโนโลยี ผู้ร่วมทุน เพื่อเป็นสินค้าสำหรับทำการตลาดเพื่อจัดจำหน่ายต่อไป
(สามารถติดตามภาพข่าวกิจกรรมนี้ ได้ที่ http://www.tm.mahidol.ac.th/th/th-news-event-view.php?news_id=4195)

Event Material(s)