2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน

2.1 ยุติความหิวโหย และสร้างหลักประกันให้ทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มยากจน และกลุ่มที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง รวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการ และเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573

2.2 ยุติภาวะทุพโภชนาการ (ภาวะได้รับสารอาหารหรือพลังงานในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ครอบคลุมภาวะเตี้ย แคระแกร็น และน้ำหนักเกิน) ทุกรูปแบบ และแก้ไขปัญหาความต้องการสารอาหารของหญิงวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร และผู้สูงอายุ ภายในปี 2573 รวมถึงบรรลุเป้าหมายที่ตกลงร่วมกันว่าด้วยภาวะเตี้ย แคระแกร็น และผอมแห้งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ภายในปี 2568

2.3 เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร และรายได้ของผู้ผลิตอาหารรายเล็ก โดยเฉพาะผู้หญิง คนพื้นเมือง ครัวเรือนเกษตรกร เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และชาวประมง ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยรวมถึงการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากร และปัจจัยการผลิต ความรู้ บริการทางการเงิน ตลาด และโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และการจ้างงานนอกภาคการเกษตรอย่างมั่นคงและเท่าเทียมภายในปี 2573

2.4 สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน และดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มดัน เพื่อเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สภาวะอากาศรุนแรงสุดขั้ว ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่นๆ และจะช่วยพัฒนาที่ดิน และคุณภาพดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี 2573

2.5 คงความหลากหลายทางพันธุกรรมของเมล็ดพันธุ์พืชที่ใช้เพาะปลูก สัตว์ในไร่นา และที่เลี้ยงตามบ้านเรือน และชนิดพันธุ์ตามธรรมชาติ รวมถึงให้มีธนาคารพืช และเมล็ดพันธุ์ที่มีการจัดการที่ดี และมีความหลากหลาย ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ และสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึง และแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรทางพันธุกรรม และองค์ความรู้ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม และเท่าเทียม ตามที่ตกลงกันระหว่างประเทศ ภายในปี 2563

2.a เพิ่มการลงทุน รวมถีงการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านโครงสร้างพื้นฐานในชนบท การวิจัยและการส่งเสริมการเกษตร การพัฒนาเทคโนโลยี และการทำธนาคารเชื้อพันธุ์พืชและสัตว์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด

2.b แก้ไขและป้องกันการกีดกัน และการบิดเบือนทางการค้าในตลาดเกษตรโลก รวมถึงขจัดการอุดหนุนสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกทุกรูปแบบ และมาตรการเพื่อการส่งออกทุกรูปแบบที่ให้ผลในลักษณะเดียวกัน โดยให้เป็นไปตามอาณัติของรอบการพัฒนาโดฮา

2.c ใช้มาตรการเพื่อสร้างหลักประกันว่าตลาดโภคภัณฑ์อาหาร และตลาดอนุพันธ์สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสม และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลของตลาด รวมถึงข้อมูลคลังสำรองอาหารได้อย่างทันการณ์ เพื่อจำกัดความผันผวนของราคาอาหารอย่างรุนแรง