การฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ ประจำปีงบประมาณ 2567

         วันที่ 22 สิงหาคม 2567 คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมซ้อมอพยพหนีไฟประจำปี 2567 ให้แก่ บุคลากรและนักศึกษาคณะเวชศาสตร์เขตร้อน รวมถึงเจ้าหน้าที่องค์กรต่างประเทศที่ปฏิบัติงานในคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ได้ร่วมปฏิบัติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรมีทักษะในการอพยพหนีไฟเมื่อเกิดเหตุอัคคีภัย  สามารถช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้เมื่อเกิดเหตุได้อย่างทันท่วงที และยังเป็นการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุอัคคีภัย ซึ่งการซ้อมอพยพหนีไฟในครั้งนี้ เป็นการซ้อมอพยพในทุกอาคารของคณะฯ และเป็นการจำลองสถานการณ์จริง โดยมีจุดรวมพลชั่วคราว ณ หน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ 60 ปี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การดับเพลิงชั้นต้น ประจำปีงบประมาณ 2567

         วันที่ 21 สิงหาคม 2567 คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การดับเพลิงชั้นต้น  ประจำปีงบประมาณ 2567 ณ ห้องประชุมมีเกรท ชั้น 8 อาคารเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ให้แก่ บุคลากรใหม่และผู้ที่ไม่เคยผ่านการอบรม  โดยมี บริษัท ซีเคเค ไฟร์-เรสคิว เทรนนิ่ง จำกัด ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ ด้านการปฏิบัติตนเมื่อเกิดเหตุอุบัติภัย การแบ่งประเภทของเพลิงรวมถึงถังดับเพลิงชนิดต่าง ๆ การอพยพเพื่อการเคลื่อนย้ายและช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน และฝึกอบรมภาคปฏิบัติการใช้ดับเพลิงในสถานการณ์จำลอง เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุฉุกเฉิน และมีความรู้ในการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุเพลิงไหม้

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน รับรางวัล MU Green Ranking 2023

             วันที่ 21 สิงหาคม 2567  รองศาสตราจารย์ ดร.ไกรชาติ ตันตระการอาภา  รองคณบดีฝ่ายทรัพยากรกายภาพและสิ่งแวดล้อม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล  เข้ารับรางวัล MU Green Ranking 2023 จาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิทธิโชติ จักรไพวงศ์  รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล  ซึ่งคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ของ MU Green Ranking 2023 ในโอกาสที่เป็นส่วนงานที่สนับสนุนข้อมูลผ่านระบบ MU-ECODATA เพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดลสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศอย่างยั่งยืนในระดับดีและดีมาก

             โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ไกรชาติ ตันตระการอาภา พร้อมด้วย นายเสวก ชมมิ่ง หัวหน้างานกายภาพและสิ่งแวดล้อม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน  เข้าร่วมรับฟังการเสวนาและการนำเสนอบทความวิจัย/บทความวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สุขภาพที่ยั่งยืน เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและธุรกิจเพื่อสังคม และสังคมที่ยั่งยืน  โดยมี นายชาลี กริ่มใจ  ตำแหน่ง วิศวกรไฟฟ้า สังกัด งานกายภาพและสิ่งแวดล้อม  พร้อมด้วยนางสาววาทิกา ภาคย์จิรกุล ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป สังกัด งานกายภาพและสิ่งแวดล้อม  เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิชาการ หัวข้อเรื่อง ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ กรณีศึกษา คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล  ในงานประชุมวิชาการมหิดลสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ณ ศูนย์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล

ศูนย์บริหารความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มหาวิทยาลัยมหิดล (COSHEM) เข้าตรวจประเมินด้านความปลอดภัย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

 วันที่ 21 สิงหาคม 2567 ศูนย์บริหารความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มหาวิทยาลัยมหิดล (COSHEM) เข้าตรวจประเมินด้านความปลอดภัย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ในพื้นที่สำนักงาน พื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้าง ระบบสาธารณูปโภค และระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยของอาคาร รวมถึงรายงานผลการตรวจประเมินด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อติดตามผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ และรับฟังประเด็นปัญหา อุปสรรคของการดำเนินงานด้านความปลอดภัยของส่วนงาน

การอบรบพร้อมฝึกซ้อมทีมผจญเพลิงคณะเวชศาสตร์เขตร้อนขั้นสูง

คณะกรรมการป้องกันอัคคีภัยและอุบัติภัย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน จัดการอบรบพร้อมฝึกซ้อมทีมผจญเพลิงคณะเวชศาสตร์เขตร้อนขั้นสูง ให้แก่บุคลากรคณะเวชศาสตร์เขตร้อน เพื่อทบทวนและเพิ่มพูนความรู้กับทีมผจญเพลิงให้มีทักษะประสบการณ์ในการป้องกันและระงับอัคคีภัย และอพยพหนีไฟได้อย่างปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ โดยมี คณะวิทยากรจากหน่วยอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยแห่งประเทศไทย ใต้ 39-00 หน่วยวิษณุ ให้เกียรติเป็นวิทยากรให้ความรู้ โดยเป็นการอบรมทางภาคทฤษฎี และภาคฝึกปฏิบัติโดยการจำลองสถานการณ์จริง ระหว่างวันที่ 3 – 4 สิงหาคม 2567 ณ ศูนย์วิจัยโรคเขตร้อนกาญจนบุรี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จังหวัดกาญจนบุรี