“ยุงลาย” พาหะร้ายไข้เลือดออก
หากจะให้พูดถึงสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคได้นั้น หนึ่งลิสต์ในใจคนทั่วไปคงหนีไม่พ้นเจ้า “ยุงลาย” พาหะของโรคไข้เลือดออกเป็นแน่ เนื่องจากเป็นโรคที่เรียกได้ว่า หากทำการรักษาไม่ทันท่วงทีแล้วหล่ะก็ อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และในขณะนี้ประเทศไทยเรา กำลังเข้าสู่ช่วงของหน้าฝน(ซึ่งเป็นฤดูที่มีการแพร่ระบาดหนักของโรคไข้เลือดออก) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจ เพื่อเป็นการตระหนักและป้องกันตนเองในเบื้องต้น ซึ่งในคราวนี้เรามีสาระน่ารู้ดี ๆ เกี่ยวกับเรื่องราวน่ารู้ของยุงลาย, ลักษณะอาการของโรคไข้เลือดออก, การป้องกัน รวมถึงวิธีการปฏิบัติตนให้ห่างไกลจากภัยร้ายไข้เลือดออกมาฝากกัน
พื้นเพข้าคือ “ยุงลาย” ก่อนจะกลายเป็น “พาหะ”
เมื่อพูดถึงเรื่องของยุงลาย หลายคนอาจแยกไม่ออกว่าลักษณะแบบไหนคือชนิดของยุงลาย (ตัวจริง) ดังนั้นเราจึงมีทริคง่าย ๆ ในการจับสังเกตลักษณะของยุงลายมาเล่าสู่กันฟัง เริ่มแรกเลยเมื่อขึ้นชื่อว่ายุงลายแล้ว ลำตัวของยุงจะมีสีดำและสีขาว (มีขาเป็นปล้องสีขาวและสีดำสลับกันอย่างเห็นได้ชัด) ด้านบนส่วนอกของยุงลายมีแถบสีขาวรูปเคียว 1 คู่พาดอยู่ (ถ้าจะให้เห็นชัดอาจต้องพึ่งแว่นขยายแล้วหล่ะในส่วนนี้) มีความไวว่องชอบอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์มากกว่ายุงชนิดอื่น ชอบกินเลือดมนุษย์ในเวลากลางวัน มักวางไข่ในภาชนะที่มีน้ำขัง เมื่อสภาพอากาศเหมาะสมจะฟักตัวเป็นลูกน้ำภายใน 1-2 วัน และจะอาศัยอยู่ในน้ำประมาณ 6-8 วัน จะกลายเป็นตัวโม่งหลังจากนั้นอีก 1-2 วัน และสุดท้ายก็จะลอกคราบ และกลายเป็นยุงลายพาหะของโรคไข้เลือดออกแบบตัวเต็มวัยนั่นเอง
อาการแบบไหนเป็น “ไข้เลือดออก”
อาการของไข้เลือดออกจะเกิดขึ้นใน 4-7 วัน หลังถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด (บางรายอาจมีอาการหลังถูกกัดประมาณ 2 สัปดาห์) โดยจะมีอาการดังนี้
 มีไข้สูงเฉียบพลัน (ไข้อาจสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส หรืออาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส)
ปวดศีรษะ, คลื่นไส้อาเจียน, อ่อนเพลีย, ท้องเสีย, หน้าแดง, เบื่ออาหาร
 มีผื่นขึ้นเป็นจุดสีแดง ซึ่งจะพบบ่อยสุดที่บริเวณผิวหนัง ลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา
ลำตัว และรักแร้ หรืออาจถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ
 จุกแน่น (ท้องกดเจ็บบริเวณชายโครงขวา)
 ในผู้ป่วยอาการรุนแรงอาจมีอาการช็อค
ใครคือกลุ่มเสี่ยงโรคไข้เลือดออก
กลุ่มเสี่ยงของโรคไข้เลือดออก ได้แก่ เด็กเล็ก, ผู้สูงอายุ, ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก, ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่อาศัยใกล้แหล่งที่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งหากสงสัยหรืออาการเข้าข่ายป่วยเป็นไข้เลือดออก ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยในเบื้องต้น
การตรวจหาเชื้อไข้เลือดออก
หากสงสัยว่าป่วยเป็นไข้เลือดออก ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการจะเป็นการดีที่สุด
เมื่อเป็นแล้วรักษาอย่างไร?
ในการรักษาโรคไข้เลือดออกนั้นยังไม่มียาเฉพาะ แพทย์จะทำการรักษาผู้ป่วยตามอาการ หากมีไข้สูงผู้ป่วยต้องรับประทานยาลดไข้หรือพาราเซตามอล, หากอาเจียน แพทย์จะให้ยาแก้อาเจียนพร้อมจิบน้ำเกลือชนิดดื่ม หรืออาจให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดร่วมด้วย เป็นต้น
ไม่อยากเป็น (ไข้เลือดออก) ป้องกันอย่างไร?
หลักง่าย ๆ ในการดูแลตนเอง คือการป้องกันอย่างถูกวิธี ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
 ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ทำได้โดยการทายากันยุง, การติดมุ้งลวด, นอนกางมุ้ง, ไม่สวมเสื้อสีทึบและอยู่ในที่มืด
 กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณที่พักอาศัย
 แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อทำการฉีดยากำจัดและใส่ทรายอะเบทในแหล่งน้ำเมื่อพบผู้ป่วยไข้เลือดออกในพื้นที่
 ทำร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย, ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่, ดื่มน้ำสะอาดและพักผ่อนให้เพียงพอ
เพียงเท่านี้ก็เป็นการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกได้ในเบื้องต้นแล้ว และหากมีอาการไข้ควรรีบพบแพทย์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทำการวินิจฉัยโดยด่วน เพราะถึงไม่ได้เป็นอะไรมาก แต่จะได้รับความสบายใจกลับบ้านไปแน่นอน ด้วยความปรารถนาดีจาก คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
ข้อมูล : หน่วยประชาสัมพันธ์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพ : ภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์
………………………………………………………………
|