คณะเวชศาสตร์เขตร้อน (ชื่อเดิม คณะอายุรศาสตร์เขตร้อน) เป็นคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้ง โดย ศ.นพ.จำลอง และ ศ.พญ.คุณหญิงตระหนักจิต หะริณสุต เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2503 จากแนวคิดที่ว่า หลักสูตรแพทยศาสตร์ของประเทศไทยในสมัย 50 ปีก่อน ไม่มีการเรียนการสอนเฉพาะทางโรคเขตร้อน แพทย์ผู้ที่สนใจจะศึกษาต่อเฉพาะทางโรคเขตร้อนต้องเดินทางไปศึกษาในต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีสถาบันที่มีชื่อเสียงเรื่องโรคเขตร้อนตั้งอยู่ ทั้ง ๆ ที่แพทย์ไทยมีความจำเป็นต้องให้บริการตรวจและรักษาคนไข้ด้วยโรคเขตร้อนอยู่เสมอ เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แนวคิดของท่านทั้งสองที่จะจัดให้มีสถาบันโรคเมืองร้อนขึ้นในประเทศไทยนั้น มีผู้เห็นด้วยและได้รับการสนับสนุนจากบุคคลสำคัญหลายท่านในขณะนั้น ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ศาสตราจารย์ บี จี มีเกรท คณบดีสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ดร.กำแหง พลางกูร เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
คณะฯ จึงได้รับก่อตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 77 ตอนที่ 28 วันที่ 5 เมษายน 2503 ความว่า
“โดยที่สมควรอบรมความรู้เรื่องอายุรศาสตร์เขตร้อนโดยละเอียดแก่บรรดาแพทย์ทั้งหลาย ตลอดจนทำการศึกษาวิจัย เพื่อความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์การแพทย์เกี่ยวกับโรคเขตร้อนแห่งประเทศไทย”
คณะเวชศาสตร์เขตร้อนได้ยึดถือเป็นพันธกิจหลักโดยมีเข็มมุ่งด้านงานวิจัยโรคเขตร้อนมาโดยตลอด ปัจจุบันส่วนงาน ประกอบด้วย 11 ภาควิชา 1 โรงพยาบาล 5 สำนักงานสนับสนุน และ 5 ศูนย์ความเป็นเลิศ มีอำนาจหน้าที่หลักในการทำงานและผลิตผลงานวิจัยด้านโรคเขตร้อน จัดการเรียนการสอนหลักสูตรที่เน้นให้ความรู้ด้านโรคเขตร้อน และให้บริการทางการแพทย์และบริการวิชาการ
พระราชกฤษฏีกา จัดตั้งคณะอายุรศาสตร์เขตร้อน ในมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ (ฉบับเต็ม)