ไข้ออกผื่นจากเชื้อไวรัสในเด็ก
ไข้ออกผื่นในเด็ก มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ทำให้มีอาการไข้ อาจมีอาการคล้ายหวัด ร่วมกับอาการผื่นที่บริเวณผิวหนัง เด็กที่ติดเชื้อสามารถแพร่กระจายเชื้อผ่านละอองฝอยจากสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ น้ำลาย ซึ่งอาจปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และเข้าสู่ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผ่านทางระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร
ลักษณะของผื่นในกลุ่มโรคไข้ออกผื่นในเด็ก แบ่งเป็น
ไข้ออกผื่นจากเชื้อไวรัสในเด็กสามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภทตามลักษณะผื่นคือ
1. ผื่นแดงราบขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นผื่นจุดแดงเล็ก เมื่อลูบอาจรู้สึกไม่รู้สึก หรือ สากมือ เล็กน้อย ผื่นมัก กระจายตามตัวทั่วไป โดยมักเริ่มจากบริเวณกลางลำตัว และแพร่กระจายไปทั่วทั้งตัว โรคที่มีผื่นลักษณะนี้ได้แก่

หัด เด็กที่ติดเชื้อจะมีอาการไข้สูง ไอ น้ำมูกไหล เยื่อบุตาอักเสบ หลังมีอาการ 3 – 5 วัน ร่างกายจะมีผื่นแดงหนาๆ ขึ้นบริเวณใบหน้า ไรผม และ จะค่อยกระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนั้นยังพบผื่นขึ้นในช่องปากด้วย เมื่ออาการดีขึ้น ผื่นจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้น และหลุดลอกไป โรคนี้อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ ที่พบบ่อย เช่น หูอักเสบ ปอดบวม
.jpg)
หัดเยอรมัน หรือ เหือด มีอาการคล้ายหัด แต่อาการรุนแรงน้อยกว่า โดยอาการไข้มักจะต่ำกว่าหัดผื่น ไม่หนาและชัดเจนเท่าหัด ผู้ป่วยเด็กมักหายได้เป็นปกติโดยไม่มีข้อแทรกซ้อน แต่ ถ้าหญิงตั้งครรภ์ในช่วง3 เดือนแรกติดเชื้อนี้ อาจทำให้เด็กในครรภ์มีความพิการได้ โรคหัดและโรคหัดเยอรมัน สามารถป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน โดยในประเทศไทยแนะนำให้เด็กทุกคนได้รับวัคซีนป้องกันโรคทั้งสองนี้ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ และควบคุมการระบาดของโรค
2. ผื่นตุ่มใส โรคที่มีผื่นลักษณะนี้ได้แก่
.jpg)
อีสุกอีใส เป็นโรคที่แพร่กระจายได้ง่าย เด็กที่มีอาการไข้ต่ำ ๆ และผื่นแดงเป็นจุด หลังจากนั้นจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสภายใน 1 – 2 วัน โดยเริ่มต้นที่บริเวณ ใบหน้า ไรผม และกระจายไปตามตัว ลักษณะตุ่ม จะค่อยๆใหญ่ขึ้น ผิวตุ่มบาง แตกได้ง่าย โดย น้ำในตุ่มจะเปลี่ยนจากใส เป็นค่อยๆ ขุ่นขึ้น และแห้ง ตกสะเก็ด โดยอาจพบตุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้น ในขณะที่บางตุ่มเริ่มตกสะเก็ด เด็กอาจมีอาการคันตามตัวเมื่อใกล้หาย โดยปกติ เด็กที่ติดเชื้อนี้ มักมีอาการไม่รุนแรง และบางคนมีเพียงไม่กี่ตุ่ม แต่ในเด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่มักมีอาการและผื่นที่รุนแรงกว่า ผู้ใกล้ชิดสามารถติดเชื้อได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ น้ำจากตุ่ม และการหายใจนำละอองฝอยที่มีเชื้อเข้าสู่ร่างกาย โดยผู้ติดเชื้อสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ตั้งแต่ก่อนพบผื่นขึ้น โรคอีสุกอีใสสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ไม่ให้ผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อหรือเคยได้รับวัคซีนดูแลเด็กที่ป่วย และควรแยกผู้ติดเชื้อจากผู้อื่น

โรคมือ เท้า ปาก มักเกิดในฤดูฝน ผู้ป่วยจะมีไข้ อาจมีอาการไอ น้ำมูกร่วมด้วย โดยหลังมีไข้ 1 – 2 วันจะมีผื่นขึ้นในปาก และเจ็บจนไม่สามารถกินน้ำหรือนมได้ กลืนน้ำลายไม่ได้เพราะเจ็บปากและมีผื่นเป็นจุดขึ้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า จุดแดงๆ จะเริ่มมีตุ่มน้ำขนาดเล็ก หนังหุ้มดูหนากว่า โรคอีสุกอีใส และ มักกระจายเห็นชัดที่ แขนขา มากกว่า กลางลำตัว

เชื้อนี้นอกจากแพร่กระจายได้จาก น้ำลาย และสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจแล้ว ยังสามารถแพร่กระจายโดยการปนเปื้อนเชื้อจากในอุจจาระของผู้ป่วยได้ด้วย ในผู้ป่วยเด็กเล็กที่มีไข้สูง มีอาการชักหรืออาการกระตุก ควรรีบมาพบแพทย์ เนื่องจากอาจการติดเชื้อนี้ในระบบประสาท โรคมือ เท้า ปาก ป้องกันได้ด้วยการไม่สัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เกรียงศักดิ์ ลิมป์กิตติกุล หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์เขตร้อน
ขอขอบคุณภาพจาก : รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เกรียงศักดิ์ ลิมป์กิตติกุล หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์เขตร้อน
และรองศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงจิตติมา ฐิตวัฒน์ ภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน
|