คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ องค์การเภสัชกรรม จัดตั้งหน่วยวิจัยเภสัชวิทยาทางคลินิกด้านชีวสมมูล เร่งเดินหน้าศึกษาประสิทธิผลยาชื่อสามัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 เวลา 11.00 น. ที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดหน่วยวิจัยเภสัชวิทยา ทางคลินิกด้านชีวสมมูล โดยมี นายแพทย์สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงเยาวลักษณ์ สุขธนะ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน และคณะผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม ผู้บริหารคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมในพิธี ณ หน่วยวิจัยเภสัชวิทยาทางคลินิกด้านชีวสมมูล ชั้น 10 อาคารราชนครินทร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
อภ.จับมือ ม.มหิดล เร่งเดินหน้าวิจัยยาชื่อสามัญ ลดค่าใช้จ่ายด้านยาให้ประเทศ
นพ.พิพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้ายาจากต่างประเทศมากถึงร้อยละ 75 ของยาที่ใช้ทั้งหมด มูลค่าประมาณปีละ 1 แสนกว่าล้านบาท ขณะที่ตลาดยาในประเทศมีมูลค่าประมาณ 60,000 -70,000 ล้านบาท ซึ่งยาบางชนิดที่มีมูลค่าการใช้สูงนั้นมีการใช้กันมาอย่างกว้างขวางและใช้กันมานานแล้ว อีกทั้งยาเหล่านี้มีมูลค่าการใช้สูง และเป็นยาที่มีราคาแพงจะใช้ได้เฉพาะบางโรงพยาบาลเท่านั้น ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว องค์การฯจึงต้องมีการวิจัยและพัฒนายาชื่อสามัญมาทดแทนยาเหล่านี้ เพราะจะทำให้ยามีราคาถูกลง และเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ยาชื่อสามัญให้เป็นที่กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมถึงองค์การฯจึงต้องดำเนินการผลิต และจัดหายาชื่อสามัญ โดยเฉพาะยาชื่อสามัญที่มีปริมาณความต้องการใช้สูง และมีมูลค่าสูง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงยามากขึ้น ส่งผลให้การรักษามีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น และยังนำมาซึ่งการลดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านยาในระบบสาธารณสุขไทย
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่าเนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดลมีอาจารย์บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการวิจัยทางคลินิกอยู่หลายคณะโดยเฉพาะคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ดังนั้นความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยทางคลินิกด้านชีวสมมูลของยาชื่อสามัญระหว่างองค์การฯ กับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล นั้น มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ในการเห็นความสำคัญของการผลิตยาชื่อสามัญ โดยเฉพาะบริบทขององค์การฯ ซึ่งมีบทบาทในการผลิตยาให้กับโรงพยาบาลและสถานพยาบาล ทั้งในยามปกติหรือในภาวะวิกฤตต่างๆ ประกอบกับทางคณะเวชศาสตร์เขตร้อนมีอาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคเขตร้อน ที่มีศักยภาพ มีความพร้อมในทุกๆด้าน ทั้งด้านสถานที่ ด้านบุคลากร ด้านวิชาการ เครื่องมือ จึงน่าจะเป็นความร่วมมือที่จะนำไปสู่การทำประโยชน์ให้ประชาชนได้เข้าถึงยาที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ในราคาเหมาะสม โดยผ่านการทดสอบทางคลินิกในระดับที่ได้มาตรฐานสากล
รศ.พญ.เยาวลักษณ์ สุขธนะ เสริมว่าศูนย์ทดสอบวัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ซึ่งได้รับการยอมรับในเรื่องของการทดสอบวัคซีนตั้งแต่ระยะที่ 1, 2, 3 ตั้งแต่ในเรื่องของความปลอดภัย ภูมิคุ้มกันและประสิทธิผลของวัคซีนเป็นระยะเวลายาวนานถึง 28 ปี มีการดำเนินงานภายใต้มาตรฐานการปฏิบัติการวิจัยทางคลินิกที่ดี หรือ GCP อันเป็นมาตรฐานสากลในด้านจริยธรรมและวิชาการ ซึ่งเป็นการประกันว่า สิทธิ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของอาสาสมัครจะได้รับการคุ้มครองโดยการศึกษาจะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทุกขั้นตอนมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ดังนั้นการขยายศักยภาพของศูนย์ทดสอบวัคซีนมาช่วยในเรื่องศึกษาวิจัยทางชีวสมมูลของยาก็มีความพร้อมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
ผู้อำนวยการ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่สำคัญของการวิจัยและพัฒนายาชื่อสามัญ คือ เรื่องของคุณภาพหรือประสิทธิผลทางการรักษาของยา เมื่อมีการรับประทานแล้วจะมีผลดีเทียบเท่ากับยาต้นแบบ ศูนย์ฯ ดังกล่าวจะดำเนินการศึกษาชีวสมมูลของยา โดยจะรองรับการทำชีวสมมูลในส่วนของการศึกษาทางคลินิก ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 2 รายการ คือ ยาลดกรด และยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ตั้งเป้าในปีนี้จะดำเนินการให้ได้ประมาณ 20 รายการ อาทิ ยาปฏิชีวนะ ประกอบด้วย ยา Azithromycin ยากระเพาะ ประกอบด้วย ยา Pantoprazole ยาต้านไวรัสเอดส์ ประกอบด้วย ยา Lopinavir/Ritonavir ยา Tenofovir/Emtricitabine ยา Ribavirin ยาTenofovir (premix) ยา Tenofovir (premix) ยา Efavirenz (premix)ยาลดความดัน ประกอบด้วย ยา Valsartan ยาลดไขมันในเส้นเลือด ได้แก่ Atorvastatin ยาที่ใช้ป้องกันการสลายตัวของลิ่มเลือด ประกอบด้วย ยา Warfarin ยาแก้ปวด ประกอบด้วย Tramadol retard ยารักษาโรคซึมเศร้า คลายวิตกกังวล ประกอบด้วย ยา Escitalopram ยาระงับอาการปวด ประกอบด้วย ยา Morphine ยาแก้ปวด ประกอบด้วย ยา Tramadol/Paracetamol และยารักษาโรคธาลัสซีเมีย Deferasirox และยาอื่นๆที่องค์การฯได้มีการวิจัยและพัฒนาในโอกาสต่อไป
“ศูนย์ฯ ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นการศึกษาประสิทธิผลของยาอันเป็นกระบวนการที่สำคัญในการศึกษาวิจัยสูตรตำรับยา เพื่อพิสูจน์ว่ายาชื่อสามัญมีคุณภาพเทียบเท่ากับยาต้นแบบ ส่งผลให้ยามีคุณภาพ ได้ผลการศึกษาที่รวดเร็ว ทันต่อการนำไปใช้ในระบบสาธารณสุขของประเทศ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง ส่งผลให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพต่อไป” ผู้อำนวยการกล่าว
|