คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยองค์กรหลายแห่ง ได้แก่ หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซฟอร์ด (Mahidol Oxford Tropical Medicine Research Unit) ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยเวชศาสตร์เขตร้อน (SEAMEO TROPMED Network) และมหาวิทยาลัยไห่หนาน (Hainan Medicine University) จัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านโรคเขตร้อน ประจำปี 2565 (Joint International Tropical Medicine Meeting 2022) ในหัวข้อ “Leveraging the Pandemic Experience: Our Tropical Medicine Community Rejuvenated” โดยเป็นการจัดประชุมแบบ Hybrid Meeting ในรูปแบบ On-Site และ Online
พิธีเปิดการประชุม (7 ธันวาคม 2565) รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต้อนรับและกล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดประชุมว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะได้มีโอกาสสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการแสวงหาองค์ความรู้ และวิธีการในการพัฒนา ควบคุม ป้องกันรักษาโรคเขตร้อน และโรคที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความคิดเห็นกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากทุกภูมิภาค เพื่อสร้างผลงานวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและประชาคมโลก จากนั้น นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย Professor Nicholas Day ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซฟอร์ด ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณะกรรมการบริหารระดับสูง สำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ประตาป สิงหศิวานนท์ เลขาธิการ/ผู้ประสานงาน เครือข่ายซีมีโอทรอปเมด ร่วมกล่าวต้อนรับผู้เข้าประชุมในนามผู้ร่วมจัดงาน (Co–Organizers) จากนั้นได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านโรคเขตร้อน ประจำปี 2565
โอกาสนี้ คณะกรรมการจัดงานได้รับเกียรติจาก Dr. Dennis Carroll, Chair, Leadership Board, Global Virome Project เป็นองค์ปาฐก (Keynote Speaker, Opening Session) ในปาฐกถาจำลอง - ตระหนักจิต หะริณสุต ครั้งที่ 27 การประชุมวิชาการนานาชาติด้านโรคเขตร้อน ประจำปี 2565 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 9 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ กรุงเทพมหานคร โดยมีนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน จาก 42 ประเทศทั่วโลก
|