พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้โรคเขตร้อน แหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ด้านโรคเขตร้อน จัดทำขึ้นในโอกาสเฉลิมฉลองการก่อตั้งคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ครบ 55 ปี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินเปิดพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้โรคเขตร้อน ณ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2559
ภายในมีเนื้อที่ประมาณ 163 ตารางเมตร จัดแสดงด้วยรูปแบบที่กระชับ ทันสมัย โดยใช้เทคโนโลยี 4 มิติทั้ง แสง เสียง ภาพ และสัมผัส ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 6 โซน ดังนี้
โซน A ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมาของคณะเวชศาสตร์เขตร้อนผ่านวีดิทัศน์ ประกอบด้วย
• ทำไมต้องจัดตั้งคณะเวชศาสตร์เขตร้อน
• คณบดีทั้ง 6 ท่าน และผลงานเด่นตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน
โซน B แหล่งกำเนิดพยาธิตัวจี๊ด
ผลงานวิจัยค้นคว้าที่ผ่านมาของคณะฯ ที่สร้างคุณประโยชน์ในวงวิชาการโลก คือ การค้นพบวงจรชีพของพยาธิตัวจี๊ดครั้งแรกของโลก (World’s first discovery of gnathostoma life cycle)
โซน C แหล่งกำเนิดพยาธิใบไม้ในตับ
นำเสนอวงจรชีวิตพยาธิใบไม้ในตับ เพื่อเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาและบุคคลทั่วไป สามารถเป็นแหล่งความรู้ที่ให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงอันตรายของพยาธิใบไม้ในตับและโทษของการบริโภคอาหารแบบสุก ๆ ดิบ ๆ
โซน D ผลงานวิจัยเกี่ยวกับโรคพยาธิตัวจี๊ด โรคพยาธิใบไม้ในตับ และโรคมาลาเรีย
ผลงานและองค์ความรู้ที่เกิดจากการศึกษา วิจัย และค้นคว้าจากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติและสังคมทางด้านโรคเขตร้อน ซึ่งรูปแบบการนำเสนอจะหมุนเวียนไปตามกลุ่มของโรค
• โรคที่เกิดจากโปรโตซัว เช่น ไข้มาลาเรียที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ อาการแสดงของผู้ป่วย โรคแทรกซ้อน การรักษา และการป้องกันไม่ให้เกิดโรค
• โรคที่เกิดจากหนอนพยาธิ เช่น พยาธิใบไม้ในตับ พยาธิตัวจี๊ด และพฤติกรรมการติดโรค จนกระทั่งเกิดมะเร็งท่อน้ำดี การป้องกัน และการรักษา
โซน E แหล่งกำเนิดโรคมาลาเรีย
นำเสนอแบบจำลองของบรรยากาศป่าไม้ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงพาหะนำโรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย คือ ยุงก้นปล่อง และนำเสนอวงจรชีวิตของยุงก้นปล่องและแนวทางการป้องกันโรคมาลาเรีย
โซน F ความร่วมมือกับนานาชาติ
นำเสนอความร่วมมือกับองค์การต่างประเทศและการสร้างเครือข่ายพันธมิตร
ให้บริการ 2 รอบ
เวลา 10:00 น. (ไทย)
เวลา 11:00 น. (ไทย-อังกฤษ)