ต้นควินิน (Quinine)

ต้นควินิน (Quinine) | ควินิน (ซิงโคนา) กว่าจะมาเป็นต้นไม้ประจำคณะเวชศาสตร์เขตร้อน | การแสวงหาต้นควินิน มาปลูกที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน
 
การแสวงหาต้นควินิน มาปลูกที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน
 
ก่อนอื่น ขอเท้าความถึงช่วงที่มีการประกวดต้นไม้ประจำคณะเวชศาสตร์เขตร้อนประมาณต้นเดือนมกราคม ๒๕๕๕ กันซักเล็กน้อย กติกาข้อหนึ่งที่ใช้ในการตัดสินก็คือ ต้นไม้ที่ส่งเข้าประกวดจะต้องหามาปลูกได้ สำหรับต้นประดู่แดง และต้นพิกุล นั้น เป็นไม้ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว และหาซื้อได้ง่ายจากตลาดขายต้นไม้ทั่วไปจึงไม่มีปัญหา ต้นมะเกลือ แม้ว่าจะหาซื้อยาก แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้ เนื่องจากกรมป่าไม้จะเพาะต้นกล้าไว้เป็นจำนวนมาก ต้นที่มีปัญหามากก็คือ ต้นควินิน หรือ ซิงโคนา นอกจากจะไม่เป็นที่แพร่หลายแล้ว น้อยคนนักจะรู้จักกันว่าต้นจริงนั้นมีลักษณะอย่างไร การแสวงหาว่าจะไปซื้อหรือไปขอสนับสนุนจากหน่วยงานใดก็ต้องพึ่งแหล่งข้อมูลที่ใกล้ตัวที่สุดคือเว็บไซต์ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของเรื่องราวถึงประวัติการเสาะแสวงหาต้นควินิน กว่าจะมาเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ให้ประชาคมเขตร้อนได้รับทราบกัน.............................................
 
เว็บไซต์ที่ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของต้นควินิน ก็คือ http://www.thaigoodview.com/node/44934 ได้ลักษณะของใบและดอกว่า ใบ: จะออกใบตรงข้ามกัน ใบมีลักษณะกลมรี ตรงปลายของมันจะแหลมสั้น มีความยาวประมาณ 30 ซม. หลังใบจะเป็นสีเขียว ส่วนท้องใบนั้นจะเป็นสีเขียวอ่อนกว่า มักจะมีสีแดงและมีขนสั้นๆ ตามเส้นใบใหญ่ ดอก: จะออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยจะมีกลีบดอกเลี้ยงติดกันเป็นหลอดสั้น ตรงส่วนปลายจะแยกเป็น 5 กลีบ กลีบดอกจะติดกันเป็นหลอดยาวตรงปลายของมันจะแยกเป็น 5 กลีบ เป็นสีชมพู แถมมีรูปประกอบด้วย ผู้ส่งต้นควินินเข้าประกวดพร้อมทีมงานจึงเริ่มตระเวนหาต้นจริงผ่านเว็บไซต์นี้กันทันที พร้อมเริ่มส่งข้อมูลให้เครือข่ายพรรคพวก ตามจังหวัดต่างๆ เพื่อช่วยกันแสวงหาอีกด้วย

จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดแรกของการแสวงหาต้นควินิน เผอิญทีมงานของเราต้องไปประชุมกรรมการบริหารศูนย์วิจัยโรคเขตร้อนกาญจนบุรี เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ได้แจ้งเราว่าพบต้นควินินแล้ว ปลูกอยู่เป็นดงไม่ไกลจากศูนย์ฯ สุดเขตของมหาวิทยาลัยมหิดลนี่เอง ดังนั้นในช่วงบ่ายหลังจากเสร็จภารกิจจากการประชุมแล้ว พวกเราจึงรีบเข้าไปในพื้นที่เพื่อจะได้ไปนำเอาต้นควินินกลับมาที่คณะฯ ด้วยความดีใจอย่างที่สุดด้วยคาดไม่ถึงว่ามาประชุมครั้งนี้จะได้ต้นควินินกลับไปด้วย ไปถึงที่หมายเราก็เข้าข้างตัวเองนิดๆ ว่าใช่ต้นควินินแน่  เมื่อเทียบกับรูปในเว็บไซต์ที่เราค้นมา กอปรกับเมื่อได้พูดคุยกับคุณยายที่ดูแลไร่ว่าเคยเป็นมาลาเรีย แต่ตอนป่วยไปเก็บใบไม้ของต้นที่ว่ามาต้มน้ำรับประทาน อาการไข้ก็หายและไม่เคยเป็นโรคนี้อีกเลย พวกเราก็เลยปักใจเชื่อว่าใช่เลยควินิน ........ เลยพากันเดินสำรวจว่าต้นไหนที่เราจะขุดแล้วนำขึ้นท้ายรถกระบะกลับคณะได้ โชคดีไปเจอต้นที่ขนาดกำลังเหมาะสูงประมาณ ๓ เมตร แต่ขุดเองไม่ไหวเลยต้องจ้างชาวบ้านแถวนั้นขุด บรรยากาศการขุดดูได้จากภาพประกอบ.......................แต่โชคไม่ดีนำมาลงกระถางที่คณะได้ไม่กี่อาทิตย์ก็ตาย เนื่องจากไม่ได้ล้อมล่วงหน้าก่อนขุด รากแก้วเลยไม่แข็งแรง
 
ดงต้นไม้ที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ บอกว่าเป็นดงต้นควินิน ที่เห็นป้ายสีฟ้านั่นคือเขตของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
   

ฝักแห้ง
ใบและดอก  
   
               
ทีมงานแสวงหาต้นควินิน - เกศินี ....เสวก......สมใจ
 
เมื่อต้นควินินที่ได้มาจากจังหวัดกาญจนบุรีตายลง ทีมงานเราก็ต้องแสวงหาแหล่งใหม่ เช่น เคยค้นจากเว็บไซต์  http://www.navigschool.com/index.php?mo=10&art=176717 แหล่งของต้นควินินคู่อยู่ที่ กองพันทหารสื่อสาร กองพลนาวิกโยธิน หาดเตยงาม อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเดิมเป็น โรงเรียนนาวิกโยธินบูรณะ กรมนาวิกโยธิน ค่ายกรมหลวงชุมพร และตามแหล่งข่าวของเรารายงานมาว่ามีต้นควินินที่วัดช่องแสมสารอีกด้วย ทีมงานเราจึงออกเดินทางเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ไปจังหวัดชลบุรี – จังหวัดที่สองของการแสวงหาต้นควินิน โดยช่วงเช้าตรงไปที่วัดช่องแสมสารเป็นแห่งแรก ช่วงบ่ายค่อยไปที่กรมนาวิกโยธิน  การเดินทางครั้งนี้ประสบผลสำเร็จได้ควินินต้นเล็กๆ มาปลูกที่คณะหลายต้น
 
            
ต้นควินินที่วัดช่องแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี - ที่นี่ได้ต้นเล็กๆ ที่เมล็ดหล่นอยู่ตามโคนต้น
 
              
มาเจอต้นสูงประมาณ ๑ เมตร ริมถนนที่ออกมาจากวัด
 
ทีมงานถ่ายภาพกับต้นควินินคู่ ต้นควินินคู่ที่ค้นภาพได้จากเว็บไซต์ของกรมนาวิกโยธิน
   
   

ทหารเรือของกองพันทหารสื่อสาร กองพลนาวิกโยธิน ผู้ชี้ทางให้ทีมงาน (เกศินี ฐิติกา กีรติยา แก้วมาลา บุญรวี)
ได้พบกับต้นควินินคู่ ที่ปลูกไว้หน้าโรงครัว หลังจากขับวนหารอบหาดเตยงามอยู่หลายชั่วโมง
 
และแล้วเมื่อมีการกำหนดวันที่ต้องให้ประชาคมเขตร้อนลงคะแนนเลือกต้นไม้ ๑ ชนิด จาก ๔ ชนิด เมื่อวันพุธที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕  เพื่อนำผลคะแนนของต้นไม้ที่ได้คะแนนสูงสุดเสนอต่อคณะกรรมการประจำคณะฯ เพื่อให้การรับรองและประกาศเป็นต้นไม้ประจำคณะฯ ต่อไป โดยจะต้องทำโปสเตอร์เพื่อแสดงภาพ คุณสมบัติ และเหตุผลที่ส่งเข้าประกวด พร้อมนำต้นจริงมาแสดงให้ดู (ถ้าหามาได้) ซึ่งทั้งต้นประดู่แดง ต้นพิกุล และต้นมะเกลือ ไม่มีปัญหาทั้งโปสเตอร์และต้นจริง ส่วนต้นควินินเพื่อให้แน่ใจว่าต้นที่ได้มาจากสัตหีบนั้นถูกต้องจริงแท้ คราวนี้ผู้ส่งเข้าประกวดต้องหาแหล่งข้อมูลอื่นเพื่อยืนยันความถูกต้องอีกที โดยการไปค้นหาจากหนังสือ สยามไภษัชยพฤกษ์ : ภูมิปัญญาของชาติ จัดพิมพ์โดย ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเทพฯ, ๒๕๓๘ (ซึ่งจัดพิมพ์เนื่องในวโรกาส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ ๔๐ พรรษา พุทธศักราช ๒๕๓๘)  ได้รับรางวัลดีเด่นหนังสือสวยงามทั่วไป จากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๓๙ และค้นจากเว็บไซต์ของต่างประเทศ http://rainforest-database.com/plants/Plant-Images/quinine-pic.htm

ผลปรากฏว่าต้นควินินที่ไปนำมาจากสัตหีบนั้นที่จริงเป็น ต้นควินินไทย หรือ สะเดาอินเดีย มีชื่อสามัญว่า Neem ชื่อวิทยาศาสตร์ Azadirachta indica A.Juss. อยู่ในวงศ์ MELIACEAE ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ยืนต้น สูง ๘-๑๒ เมตร ทุกส่วนมีรสขม เปลือกต้นมีสีน้ำตาลแกมเทา ใบประกอบแบบขนนก ลักษณะและการเรียงตัวเช่นเดียวกับสะเดาบ้าน แต่ใบย่อยโค้งเป็นรูปเคียว กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๔-๖ ซม. ดอกและผล คล้ายสะเดาบ้าน มีสรรพคุณทางยา คือ ตำรายาไทยใช้เปลือกต้นแก้ไข้ และไข้มาลาเรีย เมล็ดเป็นยาฆ่าแมลง สารที่ออกฤทธิ์ฆ่าแมลงคือ azadirachtin การทดลองในสัตว์พบว่าใบและน้ำมันจากเมล็ดมีฤทธิ์ลดไข้ ซึ่งเป็นคนละพันธุ์กับต้นควินิน หรือ ซิงโคนา ที่ผู้ส่งเข้าประกวดตั้งใจไว้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_09_16.htm

กลับมากันที่ผลการลงคะแนนในวันนั้น ถ้าผลออกมาว่าต้นที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ต้นประดู่แดง ต้นมะเกลือ หรือต้นพิกุล เรื่องก็คงจบเรียบร้อยโรงเรียนจีน ปิดแฟ้มกันไปแล้ว แต่ต้นควินินกลับได้รับคะแนนสูงสุด กติกาที่ตั้งไว้ว่าผู้ชนะการประกวดจะต้องไปนำต้นไม้ที่ชนะมาปลูกที่คณะด้วยนั้น ทำให้ทีมงานต้องค้นหาข้อมูลใหม่ว่าจะพบต้นควินิน หรือซิงโคนา ได้ที่ไหนในประเทศไทย ก็ไปพบว่าสามารถหาได้ที่ สวนสมุนไพร ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ http://www.dmsc.moph.go.th/webroot/Plant/MPRI/Cm_Garden.shtml

จังหวัดเชียงใหม่ กับการแสวงหาต้นควินินครั้งที่สาม (ทีมงานภาวนาว่าขอให้เป็นครั้งสุดท้ายทีเถิด) ในที่สุดของความพยายามของทีมงานเราก็ประสบความสำเร็จ ได้ต้นควินิน หรือ ซิงโคนา พร้อมต้นกล้าอีกจำนวนหนึ่ง มาปลูกที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ให้บุคลากรของคณะได้ชม พร้อมตั้งตารอดูวันที่ดอกควินินจะชูช่อเบ่งบานในอีก 5 ปีข้างหน้า...
 
ทีมงาน - เกศินี กิตติศักดิ์ ฐิติกา กีรติยา บุญรวี แก้วมาลา จักรวาล
 
ปรับปรุงล่าสุด 20 กุมภาพันธ์ 2568